ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง มักทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หรือมีการเอ่อล้นตลิ่งของน้ำคลองหรือจากแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คือ การระบาดของโรคติดต่อหรือโรคติดเชื้อต่างๆ เพราะแหล่งน้ำขังส่วนใหญ่จะเป็นที่ที่เชื้อโรคเพาะพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
การมีความรู้ที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจะช่วยให้เราไม่ต้องเจ็บป่วย หรือหากเกิดอาการจะได้รู้เท่าทันและรีบไปพบแพทย์ ส่วนโรคที่มักระบาดในช่วงหน้าฝน มี กลุ่มโรค ที่ควรระวัง ดังนี้
1.โรคน้ำกัดเท้าหรือ ฮ่องกงฟุต
จะมีอาการคันซึ่งเกิดจากเชื้อราที่เท้า เมื่อเท้าเปียก ๆ ชื้น ๆ จะเป็นบ่อเกิดของเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes เนื่องจากเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น
อาการ
คันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย ๆ เป็นผื่นที่เท้า ที่พบบ่อยจะเกิดตรงซอกนิ้ว แต่ก็สามารถลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ
2. ถ้าจำเป็นจะต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท
2.โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส
เชื้อนี้สามารถพบได้สัตว์หลายชนิด แต่พบมากในหนู โดยเชื้อโรคในตัวหนูจะออกมากับฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งเชื้อที่อยู่ตามแหล่งน้ำนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง และหากบริเวณบาดแผลไปสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนู เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ตัวผู้ป่วย และก่อโรคได้
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อ Leptospira interogans มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนและมีน้ำขัง
การติดต่อ
โดยเชื้อที่ปนในน้ำ ในดิน เข้าสู่คนทางผิวหนัง หรือเยื่อบุ ที่ตา ปาก จมูก
หลังจากได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิดอาการของโรค คือ
- ปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
- ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณ ขา น่อง เวลากด หรือจับจะปวดมาก
- ไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น อาการต่าง ๆ อาจอยู่ได้ 4-7 วัน
นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง การตรวจร่างกายในระยะนี้อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการตาแดง
การป้องกัน
– หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท
– ล้างเท้าหรือส่วนที่แช่อยู่ในน้ำเมื่อขึ้นจากการแช่น้ำทุกครั้งและรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
– เมื่อมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศรีษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลังหรือมีอาการตาแดง ให้รีบพบแพทย์ด่วน
3.โรคระบบทางเดินหายใจ (respiratory diseases)
มีด้วยกันหลายโรค แต่ที่พบป่วยกันบ่อย คือ โรคไข้หวัดทั่วไป (common cold) และ โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ซึ่งเกิดจากการติด เชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ผ่านเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก หากไม่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง หรือปล่อยไว้นาน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รุนแรง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ จนอาจเสียชีวิตได้
อาการไข้หวัด / ไข้หวัดใหญ่
– อาการใกล้เคียงกัน คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ แต่อาการของไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่า
– ครั่นเนื้อครั่นตัว
– มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอจาม เจ็บคอ
– อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร
การป้องกัน
– พยายามดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม เท่าที่จะทำได้
– ถ้ามีไข้ ไอ จาม ควรรีบกินยาลดไข้ หรือยาที่มีตัวยาพาราเซตามอล
– กินผักผลไม้ อาหารย่อยง่าย ดื่มน้ำสะอาด
– เมื่อมีไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
4.โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด เป็นต้น ชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ช่วงน้ำท่วม มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงได้มาก เพราะของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำท่วม
อาการ
อาการที่พบอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คือ มีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ถ่ายบ่อย ๆ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือ อาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดด้วย
การป้องกัน
– ดูแลความสะอาด เท่าที่จะทำได้ในช่วงน้ำท่วม ล้างมือให้สะอาด
– กินอาหารที่ปรุงสุก
– ดื่มน้ำสะอาด
– แยกขยะ หรือของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ให้ปนเปื้อนไปในน้ำ
5.โรคตาแดง (Conjunctivitis)
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสที่เยื่อบุตา โรคนี้มักจะระบาดในฤดูฝน เนื่องจากเชื้อสามารถกระจายตัวได้ง่ายในฤดูนี้
อาการ
– หลังได้รับเชื้อ 1-2 วัน เริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง
– มักหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธีอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา
การป้องกัน
– เมื่อตาโดนน้ำสกปรก ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที
– ไปหาหมอ เพื่อรับยาหยอดตา หรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน
– หากมีไข้ให้กินยาลดไข้ แก้ปวดตามอาการ
– ล้างมือ รักษาทำความสะอาดอยู่เสมอ
– ไม่ขยี้ตา หรือใช้สายตามากเกินไป
– ระวังติดต่อกับผู้อื่น เพราะเป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อกันได้ผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน
– ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง หรืออาการไม่หายใน 1 อาทิตย์ ควรไปหาหมออีกครั้ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– กรมควบคุมโรค
– โรงพยาบาลเปาโล
– คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM