หากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ “หนองใน” (STIs) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นได้ทั้งชายและหญิง เป็นปัญหาสุขภาพที่อันตราย เมื่อมีอาการระคายเคืองท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัดมักเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนสงสัยว่าเป็นหนองในหรือไม่
หนองใน ติดต่อกันได้อย่างไร?
- ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ที่มีเชื้อ
ประเภทของโรคหนองใน
1.หนองในแท้ (Gonorrhoea)
เกิดจาก : เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae
ระยะฟักตัว : 1-10 วัน
2.หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis)
เกิดจาก : เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis
ระยะฟักตัว : 10 วันขึ้นไป
โรคหนองใน อาการเป็นอย่างไร?
ไม่ว่าจะหนองในแท้ หรือหนองในเทียม อาการโดยรวมจะคล้ายกัน ดังนี้
อาการหนองในของผู้ชาย
- ปัสสาวะแสบขัด
- มีหนองออกมาจากอวัยวะเพศ
- อัณฑะบวม
- มีของเหลวออกจากทวารหนัก ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
อาการหนองในของผู้หญิง
- ตกขาวมีสีเหลือง หรือเขียวคล้ายหนอง
- คันอวัยวะเพศ
- เลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปวดท้องน้อย
- มีของเหลวออกจากทวารหนัก ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
การรักษา
- การรักษาทำได้โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์ทันทีเนื่องจากเชื้ออาจดื้อยา ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วันหลังเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย แนะนําให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามหลังการรักษา และ 3 เดือนหลังจากได้รับการรักษาเพื่อทำการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อน
- ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น
- ติดเชื้อในกระแสเลือด ตามด้วยอาการติดเชื้อที่ข้อและโรคข้ออักเสบ
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดในท่อนําไข่และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากและการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การอักเสบของลูกอัณฑะ อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชาย
- การแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกําหนด
- หากติดเชื้อโรคหนองในระหว่างตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดอาจมีภาวะเยื่อบุตาอักเสบหากคลอดขณะที่มารดากำลังติดเชื้อหนองใน
วิธีป้องกันหนองใน
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก
- เลี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองใน หรือ ผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- รักษาความสะอาดร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจภายในเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลmedpark
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– mordeeapp.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM