คุณแม่มือใหม่ คุมกำเนิดอย่างไรหลังคลอดบุตร

คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกอาจมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิด ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ให้นมบุตรด้วยวิธี Exclusive Breast Feeding (ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว) เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งการให้นมลูกวิธีนี้สามารถคุมกำเนิดไปในตัวได้ถึง 90-95% ใน 6 เดือนแรกหลังคลอด แต่หากคุณแม่ต้องการความมั่นใจในการคุมกำเนิดให้มากขึ้น ก็สามารถใช้วิธีอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้นมบุตรได้ ดังนี้

วิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมในช่วงให้นมบุตร

  1. ถุงยางอนามัย (Condom)
    เป็นวิธีที่คุณกำเนิดหลังคลอดสำหรับคุณแม่ที่ไม่ต้องการใช้ฮอร์โมน มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย และต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลาสั้น ๆ ค่ะ แต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับการใช้งานถุงยางอนามัยด้วย ถ้าหากใช้งานอย่างถูกต้องก็จะมีประสิทธิภาพสูงถึง 98% เลยค่ะ
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-only pill)
    ยาคุมชนิดนี้สามารถรับประทานได้ในช่วงให้นมบุตรโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนมและสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้อีกด้วย วิธีการการรับประทานเหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องเลือดออกกะปริบกะปรอย ระหว่างการรับประทานได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการลืมกินหรือเปลี่ยนช่วงเวลากินบ่อยๆ
    ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ 1 แผงประกอบด้วยยา 28 เม็ด แนะนำในเริ่มกินในช่วงวันที่ 21-28 หลังคลอดบุตร แต่หากกินหลังจากนั้น สามารถกินได้แต่ช่วง 7 วันแรกที่กินยาคุมกำเนิดชนิดนี้ หากมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้คุมกำเนิดโดยการใช้ถุงยางร่วมด้วย ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีโรคตับ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และโรคลิ่มเลือดอุดตันแบบเฉียบพลัน
  3. ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)
    มี 2 ชนิดคือ แบบ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 3 เดือน และแบบที่ 2 คือ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 1 เดือน
    ยาคุมชนิดนี้สามารถรับได้ในช่วงให้นมบุตรโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนม สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ภายหลังคลอดบุตร หรือ ภายใน 7 วันหลังมีรอบเดือนมา
    ข้อดีของการคุมกำเนิดแบบฉีดคือ ไม่มีปัญหาเรื่องการลืมกินยา คุมกำเนิดได้นานกว่ายาคุมชนิดกิน แต่อย่างไรก็ตามมีผลข้างเคียงคือ มีเลือดออกกะปริบกะปรอย หากใช้ไปนานๆ จะทำให้ประจำเดือนไม่มา นอกจากมียังมีผลข้างเคียงทำให้มีน้ำหนักขึ้น มีฝ้า และหากใช้ในระยะยาวมีรายงานว่าทำให้ระดับ
    คอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือดสูงขึ้นและมวลกระดูกบางลงได้ แต่อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้มวลกระดูกที่บางลงสามารถกลับคืนมาได้
  4. ห่วงคุมกำเนิด (IUD)
    สำหรับคุณแม่คนไหนที่อยากคุมกำเนิดในระยะยาวหลาย ๆ ปี สามารถเลือกคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ค่ะ ซึ่งจะมีให้เลือกอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีฮอร์โมน สามารถคุมกำเนิดได้ 3 – 5 ปี และชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน สามารถคุมกำเนิดได้ 3 – 10 ปี
    อย่างไรก็ตาม การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะสามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้โดยจะใช้ระยะเวลาหลังจากที่คลอดบุตรไปแล้วอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นคุณแม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน
  5. ยาฝังคุมกำเนิด (Implant)
    ยาคุมชนิดนี้ประกอบด้วยฮอร์โมน Progestin ชนิดเดียวดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนม ยาฝังคุมกำเนิดมี 2 ประเภท คือ
    – ชนิด 1 หลอด (Nexplanon) คุมกำเนิดได้ 3 ปี
    – ชนิด 2 หลอด (Jadelle) คุมกำเนิดได้ 5 ปี
    การฝังยาคุมจะฝังบริเวณท้องแขนด้านในเหนือข้อศอกเล็กน้อย ปกติแนะนำให้ฝังภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด แต่ในกรณีที่เลย 6 สัปดาห์หลังคลอดแล้วแต่ประจำเดือน ยังไม่มา สามารถฝังยาคุมได้ แต่ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้งและภายหลังฝัง 7 วันควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การสวมถุงยางอนามัย การฝังยาคุมกำเนิดซึ่งจะยังมีรอบเดือนมาตามปกติแต่อาจมาน้อยลงได้ และเมื่อครบกำหนดต้องมานำหลอดยาฝังออก

ส่วนการคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แผ่นแปะคุมกำเนิด และวงแหวนคุมกำเนิด ควรเริ่มใช้หลังคลอดบุตร 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงและยังไม่มีการศึกษาถึงผลต่อการเจริญเติบโตของทารกอย่างชัดเจน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
– แพทย์หญิงฐิติพรรณ ชยวงศ์รุ่งเรือง
– แพทย์หญิงอภิรดี จิรัฐิติกาลโชติ
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี