อาการหนองในผู้หญิงที่ควรรู้ และวิธีรักษา

ผู้หญิงหลายๆ คน อาจจะมีความกังวลใจ เมื่อทราบหรือสงสัยว่าอาจจะมีโอกาสได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ อันเป็นสาเหตุของ โรคหนองในผู้หญิง และต้องการสังเกตอาการของตัวเองว่าได้รับเชื้อแล้วหรือไม่

อาการหนองในผู้หญิงมักทำให้เกิดตกขาวมาก ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ซึ่งอาการจะคล้ายกับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหนองใน และอาจแพร่เชื้อไปสู่คู่นอน หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบและมีบุตรยากตามมา

หนองใน (Gonorrhea) หรือหนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae ซึ่งติดเชื้อได้ทั้งชายและหญิง อาการหนองในผู้หญิงมักติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปากแบบไม่ได้ป้องกัน และหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหนองในอาจทำให้ทารกติดเชื้อได้หากคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

อาการของโรคหนองในในผู้หญิง

พบว่าผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 50 ที่ติดเชื้อหนองใน ไม่มีอาการ แต่หากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อหนองใน เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง การตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก เป็นต้น

อาการที่อาจพบได้ตามอวัยวะที่ได้รับเชื้อ ได้แก่ ตกขาวผิดปกติ เช่น มีสีเหลือง หรือสีเขียว มีกลิ่นผิดปกติ มีตกขาวปริมาณเพิ่มขึ้น ปวดท้องน้อย หรืออาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกกะปริบกะปรอย (อาจพบได้น้อย) เป็นต้น หากมีการติดเชื้อบริเวณทวารหนัก จะมีอาการปวดหน่วงๆ บริเวณทวารหนัก หรืออาจมีน้ำสีคล้ายหนองออกมาจากทางทวารหนักได้ ส่วนการติดเชื้อบริเวณลำคอมักจะไม่มีอาการใดๆ

แนวทางการรักษาอาการหนองในผู้หญิง

อาการหนองในผู้หญิงไม่สามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้านหรือการซื้อยามารับประทานเอง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยการฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 1 เข็ม และแพทย์อาจให้ผู้ป่วยบางคนรับประทานยาปฏิชีวนะแบบเม็ดร่วมด้วย โดยปกติแล้ว อาการมักจะหายดีภายใน 1 สัปดาห์หลังได้รับยา

หลังจากนั้นแพทย์อาจนัดให้ผู้ป่วยไปตรวจซ้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามการนัดหมายแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด ทั้งนี้ คู่นอนของผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหนองในก็ควรเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อหนองในจากการมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบจนกว่าอาการจะหายดี

กรณีที่สงสัยว่าติดเชื้อหนองในขณะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและทารกอาการหนองในผู้หญิงสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือปากก็ตาม รวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือมีคู่นอนหลายคน และผู้หญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีเพศสัมพันธ์ หรือคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬารัตน์ แอร์พอร์ต9
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี