Megaloblastic Anemia  ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี

โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด คือ ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่าปกติ ฮีโมโกลบินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ภาวะโลหิตจางทำให้เซลล์และอวัยวะได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หายใจลำบาก มีภาวะซีด ตัวเหลือง และส่งผลต่อการทำงานของสมอง โลหิตจางรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว หมดสติ และเสียชีวิต ผู้ที่สงสัยว่าอาจมีภาวะโลหิตจางควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเป็นระบบ

ไขกระดูกมีหน้าที่ผลิตเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดแดงทำให้หน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วย Megaloblastic Anemia จะทำให้ลำเลียงออกซิเจนได้น้อยลง สาเหตุหลักของภาวะนี้คือการขาดวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 หรือโฟเลต ซึ่งจะรักษาด้วยการให้วิตามินบีทดแทนตามที่ผู้ป่วยขาด

โลหิตจาง มีสาเหตุจากอะไร?

โลหิตจางมีสาเหตุเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.การสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิลในร่างกายลดลง โดยมีสาเหตุจาก

  • การขาดสารอาหาร (Lack of nutrients) ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก (โฟเลต) ซึ่งพบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ 
  • การตั้งครรภ์ (Pregnancy) ผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีปริมาตรน้ำเหลืองในเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีภาวะโลหิตจาง
  • โรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ที่ส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น มะเร็ง โรคตับ ไตวายเรื้อรัง โรคระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อ HIV โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่ส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูก และทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
  • โรคในไขกระดูก (Bone marrow diseases) เช่น มะเร็งในระบบเลือดที่กดการทำงานและการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ มะเร็งไขกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โรคไขกระดูกเสื่อม หรือการติดเชื้อในไขกระดูก

2.เม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายเร็วกว่าปกติ โดยมีสาเหตุจากโรคเลือดทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อ เช่น

  • ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) โรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อย เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและแตกง่าย
  • โรคพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (Glucose 6 phosphate dehydrogenase: G6PD) เกิดจากการขาดเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจากฤทธิ์ของยา หรืออาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า ถั่วฝักยาว หรือถั่วเขียว การขาดเอมไซม์ G6PD ทำให้เป็นมีภาวะโลหิตจางอย่างรวดเร็ว มีภาวะซีดจาง ปัสสาวะเป็นสีชา ตัวเหลืองตาเหลือง หรือดีซ่าน
  • โลหิตจางจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Autoimmune hemolytic anemia) หรือโรคโลหิตจางจากกลไกของภูมิคุ้มกัน คือภาวะที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง เกิดจากการที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อต้านเม็ดเลือดแดงตนเอง ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia: SCD) เกิดจากความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไม่เป็นทรงกลมและมีรอยบุ๋มตรงกลางตามปกติ แต่ที่มีรูปร่างคล้ายเคียว หรือพระจันทร์เสี้ยวที่ทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง 
  • การติดเชื้อ (Infections)  เช่น เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium) เชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา (Mycoplasma) เชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้มาลาเรียที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และมีภาวะซีด

3.การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ซึ่งเป็นได้ทั้งการเสียเลือดแบบเฉียบพลัน ได้แก่ การตกเลือด การเกิดอุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร หรือการเสียเลือดแบบเรื้อรังที่ทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็กในเวลาต่อมา ได้แก่ ประจำเดือนมามาก โรคหลอดเลือดโป่งพอง แผลในกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ใหญ่

โลหิตจาง มีอาการอย่างไร?

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย เป็นอาการแรกที่มักเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วย Megaloblastic Anemia ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
  • หายใจลำบาก หายใจถี่
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ตัวซีด หรือตัวเหลือง
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นเร็วผิดปกติ
  • ลิ้มบวมแดง ลิ้นแตก มีแผลในปาก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย 
  • มือเท้าชา หรือรู้สึกเสียวแปลบ เสียการทรงตัว
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • มีอาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล สับสน และความจำเสื่อม

การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12

 เมื่อพบโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงได้เล็กน้อย ลักษณะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลด์มีขนาดใหญ่ที่มีจำนวนหยักของนิวเคลียสมากขึ้นผิดปกติ แพทย์จะสืบค้นเพิ่มเติมโดยตรวจระดับวิตามินบี 12 ในเลือดว่ามีระดับต่ำผิดปกติหรือไม่หากตรวจไขกระดูกซึ่งเป็นที่ผลิตเม็ดเลือดแดง จะพบเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่มีขนาดใหญ่และนิวเคลียสอ่อนผิดปกติได้

โลหิตจาง มีวิธีการรักษาอย่างไร?

แพทย์ด้านโลหิตวิทยาจะทำการรักษาภาวะโลหิตจางจากสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการของแต่ละบุคคล ตั้งแต่การให้ธาตุเหล็กบำรุงเลือด การให้เลือด การฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด การรักษาโรคเลือดหรือโรคในระบบเลือด โรคในไขกระดูก รวมถึงโรคเรื้อรัง หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่แพทย์ตรวจพบ การรักษาภาวะโลหิตจางมีวิธีการดังนี้

  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์จะพิจารณาให้ธาตุเหล็กบำรุงโลหิตเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือด สำหรับผู้มีภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดจำนวนมาก เช่น การตกเลือด อุบัติเหตุ หรือเลือดออกภายใน แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดโดยเร็วที่สุด
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามิน (Vitamin deficiency anemia) ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก แพทย์จะพิจารณาให้ทานวิตามินดังกล่าวเสริม
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) แพทย์จะเน้นทำการรักษาโดยไปที่โรคชนิดนั้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนสังเคราะห์อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดแดง
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคในไขกระดูก (Anemia caused with bone marrow disease) แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาโดยขึ้นอยู่กับชนิดของโรค รวมถึงระดับความรุนแรง เช่น การให้ยา การให้เคมีบำบัด รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
  • ภาวะโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) แพทย์จะพิจารณาการให้เลือด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่แข็งแรงเข้าสู่ร่างกาย
  • ภาวะโลหิตจางจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Hemolytic anemia) แพทย์อาจพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยป้องกันเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia) แพทย์จะพิจารณาการรักษา เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาบรรเทาปวด การให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการปวดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน จากการให้เลือด การให้กรดโฟลิกทานเสริม รวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะ
  • ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา สำหรับผู้ที่เป็นธาลัสซีเมีย แพทย์จะพิจารณาแนวทางในการรักษาหลากหลายโดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการ เช่น การรับเลือด การให้กรดโฟลิกทานเสริม การให้ยาขับธาตุเหล็ก การผ่าตัดม้าม และการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาธาลัสซีเมียที่ช่วยให้หายขาดจากโรคได้

การให้วิตามินบี 12 และโฟเลตเสริม

สำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ หรือได้รับวิตามินบี 12 และโฟเลตไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร หรือมีความผิดปกติที่ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามิน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมชนิดเม็ดให้ผู้ป่วยรับประทาน หรือชนิดฉีด โดยอาจต้องฉีดทุกเดือนตามดุลพินิจของแพทย์

โดยผู้ป่วย Megaloblastic Anemia ควรได้รับวิตามินบี 12 เสริมประมาณ 1,000 ไมโครกรัม/วัน และโฟเลตเสริม 1 มิลลิกรัม/วัน เพื่อรักษาอาการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต 

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิด Megaloblastic Anemia เช่น โรคโครห์น แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย และบางครั้งแพทย์อาจนัดหมายให้ผู้ป่วยมาตรวจเลือดเพื่อติดตามผลหลังการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจาง เป็นอย่างไร?

  • โรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง ซึ่งปอดและหัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย 
  • ความผิดปกติของระบบประสาทจากการขาดวิตามินบี 12 เช่น การมองเห็นเปลี่ยนไป เซ พูดลำบาก มีอาการปลายประสาทอักเสบ มีอาการเจ็บแปลบ โดยเฉพาะบริเวณขา และเสียความทรงจำ
  • มีบุตรยาก โดยอาจเกิดขึ้นชั่วคราว และจะอาการอาจดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา
  • ความผิดปกติในทารก เช่น ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่

การป้องกันภาวะโลหิตจาง มีวิธีการอย่างไร?

  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากโรคเลือดทางพันธุกรรม โรคระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคในไขกระดูกควรพบแพทย์เพื่อรับรักษาแต่เนิ่น ๆ
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดสารอาหารควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 และวิตามินซี
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากทุกสาเหตุ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้จนทำให้มีเลือดออกภายในอวัยวะได้
  • ผู้ที่อุจจาระมีสีดำ อุจจาระมีเลือดปน มีจุดเลือดออกเป็นจ้ำ ๆ ตามตัว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ
  • ผู้ที่หมดประจำเดือนไปแล้วแต่มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ
แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี