หนองในแท้ vs หนองในเทียม ต่างกันตรงไหน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้ยินชื่อบ่อย ๆ หลายคนคงนึกถึงโรคหนองในกันใช่ไหมคะ แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้วโรคหนองในมี 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ และ หนองในเทียม โรคหนองในเป็นโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน และสามารถเกิดได้ทั้งเพศหญิงและชาย แล้วโรคหนองในแท้และหนองในเทียมต่างกันอย่างไรล่ะ ? วันนี้เภสัชกรจะชวนมาทำความรู้จักถึงความแตกต่างของทั้ง 2 โรคนี้กันค่ะ

อาการหนองในแท้ในผู้หญิงและผู้ชาย จะมีอาการแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ในผู้ป่วยชาย มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองไหล เป็นมูกขุ่นออกจากท่อปัสสาวะ
  • ในผู้ป่วยหญิง มักมีอาการตกขาวผิดปกติเป็นหนองหรือมูกปนหนองไหลออกจากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด แต่ส่วนใหญ่ 30 – 40% ของผู้ป่วยโรคหนองในแท้ไม่มีอาการผิดปกติ

หนองในเทียม (Chlamydia)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นจากการรับเชื้อแบคทีเรียผ่านจากคู่นอนที่ติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมูกใสหรือหนองที่บริเวณอวัยวะเพศ หนองในเทียมอาจไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจนในผู้ป่วยบางราย และเป็นโรคที่พบมากในวัยรุ่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง

หนองในเทียมและหนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคนละชนิด หนองในแท้เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gorrhoese) โดยที่หนองในทั้ง 2 ชนิดจะแสดงอาการคล้ายกัน แต่หนองในเทียมมักไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการรุนแรงน้อยกว่า และมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียนานกว่าหนองในแท้

สาเหตุของหนองในเทียม

หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์

อาการของหนองในเทียม

อาการของหนองในเทียม ในช่วงแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็น หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศ โดยมีลักษณะดังนี้

อาการหนองในเทียมในเพศชาย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในเพศชายจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
  • มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ

อาการหนองในเทียมในเพศหญิง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีเพียง 30% ของผู้ป่วยในเพศหญิงที่จะมีอาการ มักแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์

สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางอื่น ๆ เช่น ทางทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ ก็สามารถแสดงอาการได้ คือ เจ็บ ปวด มีเลือดไหล หรือมีหนองที่บริเวณทวารหนัก และรู้สึกเจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยหนองในเทียม

ขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้

  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
  • การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง

การรักษาหนองในเทียม

  • การรักษาหนองในเทียมสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่
  • กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
  • กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
  • กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)

หนองในเทียมที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
  • ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร 15 นาที นาน 14 วัน

หนองในเทียมเยื่อบุตาในผู้ใหญ่ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 10 วัน
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
  • เตตราไซคลิน (Tetracycline) 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน

ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในเพศหญิงอาจมีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบครั้งเดียว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และรับประทานยาจนครบตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือน ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย

หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก

หากติดเชื้อหนองในเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยากอีกด้วย

การรักษาหนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยปกติ แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

หญิงตั้งครรภ์

  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 7 วัน หรือวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน

หญิงในช่วงให้นมบุตร

  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับการรักษาหนองในเทียม
  • อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร นาน 7 วัน

ภาวะแทรกซ้อนในเพศชาย

  • อัณฑะอักเสบหรือต่อมลูกหมากติดเชื้อ หนองในเทียมในเพศชายสามารถแพร่กระจายไปที่ลูกอัณฑะ หลอดเก็บน้ำอสุจิ และต่อมลูกหมาก ทำให้มีอาการปวดหรือบวม มีไข้หนาวสั่น เจ็บที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปวดเอว และเกิดอาการปวดในระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ถ้าปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้เป็นหมันได้
  • ข้ออักเสบ หรือที่รู้จักในชื่อ โรคไรเตอร์ หรือข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter Syndrome) หลังจากเป็นหนองในเทียมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ อาจมีอาการตามมาด้วยคือข้ออักเสบ รวมไปถึงทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือตาอักเสบ อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใส่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) จำพวกไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) โดยส่วนมากแล้วอาการนี้จะเกิดในเพศชาย แต่ก็สามารถเกิดในเพศหญิงได้เช่นเดียวกัน

ภาวะแทรกซ้อนในเพศหญิง

  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ หนองในเทียมในเพศหญิงสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและรังไข่ได้ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกในขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาการนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์

การป้องกันหนองในเทียม

  • การป้องกันหนองในเทียมที่เห็นผลที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการรับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือปฏิบัติตัวตามวิธีการดังต่อไปนี้
  • ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ถึง 99%
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ปวดท้องน้อย ร่วมกับมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และหลังจากได้รับการรักษาแล้วควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

ไม่อยากเป็นหนองใน ต้องรู้จักป้องกัน

โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae)” โดยพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในมีหลายรูปแบบ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยแตก รั่ว รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นอีก ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นหนองในล่ะก็ มาดูวิธีป้องกันโรคนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

จะเห็นได้ว่าโรคหนองในไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดได้ง่าย แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เช่นกัน เพราะถ้าติดหนองในขึ้นมาแล้วบางคนไม่มีอาการแสดงให้เห็น ทำให้อาจไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นมาได้ ดังนั้นการดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพตนเองจะดีที่สุด และอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีกันด้วยนะคะ



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– pobpad.com
– วิพิกีเดีย
– คนท้อง.com
– fascino.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี