หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) คือ โรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากอวัยวะภายในระบบหายใจ ได้รับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม เนื้อปอด เกิดการอักเสบขึ้น เมื่อหลอดลมเกิดภาวะตีบแคบลง หรือถูกอุดกั้น ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่วัย 40 และผู้ป่วยโรคหืดที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และไม่สามารถทำการรักษาได้ ต้องอยู่กับอาการเรื้อรังไปตลอด
สาเหตุ และ ปัจจัยเสี่ยของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลม และถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด
- มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงการหายใจเอาสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอด ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่ทำงาน ในสถานที่มีละอองสารเคมี เช่น เหมืองถ่านหิน งานเชื่อมโลหะ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิง ในการประกอบอาหารและการขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตในตับ แล้วหลั่งเข้ากระแสเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ปอดถูกทำลายจากสารต่างๆ โรคนี้จึงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนวัยหนุ่มสาวเป็นโรคที่ไม่ได้พบได้บ่อยนัก
- ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ การสูบบุหรี่ร่วมกับเป็นโรคหืด และ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะเริ่มแรก
- ไอ มีเสมหะ
- หอบ เหนื่อยง่าย
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะรุนแรง
- น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ จนสูบผอม
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เล็บ และปาก เปลี่ยนเป็นสีม่วง
- ไอเป็นเลือด
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
การวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
แพทย์วินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้โดยการซักประวัติครอบครัว รูปแบบการใช้ชีวิต สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด รวมถึงประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด โดยแพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมแล้วให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกให้เร็วและแรงผ่านเครื่อง spirometer เพื่อวัดค่าปริมาณอากาศที่ผู้ป่วยสามารถหายใจออกใน 1 วินาที เทียบกับค่าปริมาณของอากาศเมื่อหายใจออกทั้งหมด เมื่อนำผลมาพิจารณาประกอบกับอาการของผู้ป่วยก็จะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคได้
- การตรวจภาพรังสีทรวงอก หรือเอกซเรย์ปอด เพื่อแยกโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) อาจตรวจในผู้ป่วยบางรายเพื่อดูการกระจายตัวของโรคถุงลมโป่งพองประกอบการพิจารณาผ่าตัดรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
- การตรวจวิเคราะห์แก๊สในเลือดแดง (arterial blood gas) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตรวจวัดการทำงานของปอด โดยดูจากระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
- การตรวจอื่นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์สาเหตุของอาการบางอย่าง หรือตัดภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ ทิ้ง เช่น การตรวจคัดกรองภาวะพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยหรือมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ
การรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
แม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนรวมถึงอาการกำเริบเฉียบพลันได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้นได้มีดังนี้
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับแรกของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การเลิกบุหรี่จะช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงและทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถเลิกบุหรี่อย่างถาวรได้ด้วยตัวเอง อาจขอรับบริการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดได้ ณ ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ และการอยู่ในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี หากจำเป็นควรสวมอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองและสารเคมี
- การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งการเลือกใช้ยาจะเป็นไปตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค สำหรับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่
3.1 ยาขยายหลอดลม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการไอ หายใจติดขัด ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกขึ้น ยาขยายหลอดแบ่งออกเป็นชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว และมีทั้งแบบสูดพ่นและแบบรับประทาน
3.2 ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด ใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อลดการกำเริบของโรคซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป
3.3 ยาปฏิชีวนะ ให้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือการกำเริบเฉียบพลัน - การรักษาอื่นๆ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยรุนแรง การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยกายภาพบำบัด การดูแลภาวะโภชนาการ และการดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย
- การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยยาและวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาถุงลมขนาดใหญ่ที่กดเนื้อปอดข้างเคียงออก ผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด เพื่อใส่อุปกรณ์ในหลอดลม หรือเพื่อปลูกถ่ายปอดหากมีผู้บริจาคอวัยวะ
การป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ รวมทั้งควันที่เกิดจากการเผาไหม้อื่นๆ
- หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงสภาพมลภาวะเป็นพิษ
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันพิษจากอากาศ เช่น หน้ากากกรองฝุ่น หรือเครื่องกรองอากาศ
- การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้น เช่น ผู้ที่ทำงาน หรืออาศัยอยู่บริเวณโรงงานอุตสาหกรรม ในเหมืองแร่ ผู้ที่ทำงานอยู่ในแหล่งอโคจรที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น หากมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อยหอบ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ และรักษา เพราะโรคปอดอุดกั้น มีอาการที่ใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
– โรงพยาบาลเพชรเวช
– โรงพยาบาลสินแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM