โรคหนองในแท้และหนองในเทียม เป็นโรคที่มีอาการแสดงคล้ายคลึงกันหรืออาจจะเกิดร่วมกันได้ แต่มีเชื้อก่อโรคที่แตกต่างกัน ดังนี้
โรคหนองในแท้ (Gonorrhoea)
โรคหนองในแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Neisseria gonorrhea มีระยะการฟักตัวสั้น ประมาณ 1 – 10 วัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการฟักตัวภายใน 5 วัน และเป็นโรคภายใน 7 วัน มีลักษณะของหนองที่ขุ่น และจะทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก mucous membrane เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ, ช่องคลอด, ปากมดลูก และเยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา ปาก และคอ
โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis: NSU)
โรคหนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis มีระยะการฟักตัวของโรคนานกว่าโรคหนองในแท้ นั่นคือ มากกว่า 10 วันขึ้นไป มีลักษณะของหนองทั้งใสและขุ่นได้ และมักเป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดเชื้อโรคซึ่งไม่ใช่หนองในแท้
อาการหนองในแท้
อาการหนองในแท้ในผู้หญิงและผู้ชาย จะมีอาการแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ในผู้ป่วยชาย มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองไหล เป็นมูกขุ่นออกจากท่อปัสสาวะ
- ในผู้ป่วยหญิง มักมีอาการตกขาวผิดปกติเป็นหนองหรือมูกปนหนองไหลออกจากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด แต่ส่วนใหญ่ 30 – 40% ของผู้ป่วยโรคหนองในแท้ไม่มีอาการผิดปกติ
อาการหนองในเทียม
อาการหนองในเทียมในผู้หญิงและผู้ชายจะมีอาการ ดังนี้
- ในผู้ป่วยชาย มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด อวัยวะเพศปวดบวมแดง และมีน้ำหนองเป็นมูกใสไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
- ในผู้ป่วยหญิง จะมีตกขาวเป็นมูกใสผสมกับหนอง มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด และอาจมีเลือดออกกระปริบกระปรอยร่วมด้วย
อาการของโรคหนองในจะหายไปเมื่อใด?
การรักษาโรคหนองในโดยใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) จะช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการรักษา โดยอาการต่าง ๆ อาจหายไป เช่น อาการตกขาวผิดปกติและการปัสสาวะที่แสบขัด สำหรับการมีเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือน อาจดีขึ้นในรอบเดือนถัดไป แต่หากปัญหายังคงอยู่หรือมีอาการเป็นที่น่าเป็นห่วง เช่น มีเลือดออกมาก หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อการประเมินเพิ่มเติม
สำหรับผู้ชายที่มีอาการปวดอัณฑะหรือปวดบริเวณท้องน้อย การหายขาดของอาการอาจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางกรณี แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติเพิ่มเติม ควรพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม นอกจากนี้หากพบว่ามีภาวะดื้อยาหรือโรคลุกลามมากขึ้น ควรเข้ารับการตรวจอีกครั้งจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษา ที่เหมาะสมต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web bangkoksafeclinic
– web.fascino
– web pskclinicbkk
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM