โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรและมักระบาดในช่วงหน้าฝน พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผ่านทางของเล่น-ของใช้ หรือน้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน
อาการที่พบบ่อย เช่น มีไข้ น้ำมูก ไอ มีตุ่มหรือแผลในปาก มีผื่นหรือตุ่มที่มือ เท้าและตามตัว
ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบลูกน้อยมีอาการข้างต้น แนะนำให้พามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ
การรักษาเบื้องต้น
- สำหรับอาการไข้และความเจ็บปวดจากแผล สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้
- การดูแลช่องปาก ให้ใช้น้ำเกลือบ้วนปากบ่อยๆ (จะสามารถใช้น้ำเกลืออุณหภูมิอุ่นๆ ในการบ้วนปากได้ต่อเมื่อเด็กโตพอที่จะบ้วนปากได้เองโดยไม่กลืนน้ำเกลือลงไป)
- การรับประทานอาหาร ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่กลืนง่าย เช่น ซุป ข้าวต้ม มันบด ไอศกรีม หรือโยเกิร์ต โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด มีรสเปรี้ยว หรือมีรสเผ็ด
- ป้องกันภาวะขาดน้ำ ด้วยการดื่มน้ำเปล่ามากๆ โดยควรดื่มน้ำทุกๆ ครึ่งชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
- โรงเรียนและสถานศึกษาควรมีการคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ
- สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นๆ
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ของเล่นต่างๆ
- ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สนามเด็กเล่น ตลาด ควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
แค่ล้างมือให้สะอาด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ได้ไม่ยาก และยังเป็นการลดการเกิดโรคติดต่อต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM