ยาเมทิลแซนทีน(Methylxanthines) จัดเป็นกลุ่มอนุพันธ์ยาที่มักนำมารักษาอาการโรคหืด/โรคหอบหืด ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของทางเดินหายใจเกิดการคลายตัว และยังมีผลต่อการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยลดกระบวนการทางชีวะเคมีของหลอดลมและปอดซึ่งช่วยลดอาการหอบหืดลงได้
ยาอนุพันธ์เมทิลแซนทีนจะถูกเรียกชื่อตามโครงสร้างเคมีที่แตกต่างกันออกไป อาจอธิบายโดยย่อๆได้ดังนี้ คือ
- โครงสร้างเคมีที่เป็นแกนกลางของยาเมทิลแซนทีน จะมีชื่อเรียกว่า “แซนทีน (Xanthines)”
- กรณีที่มีหมู่เมทิล 3 หมู่ (-CH3) เข้ามาเกาะที่หมู่แซนทีนจะได้สารคาเฟอีน (Caffeine) หรือที่รู้จักกันว่า กาแฟ
- หากหมู่เมทิลมาเกาะที่แกนแซนทีน 2 หมู่ เราจะเรียกยาแซนทีนนั้นๆว่า ทีโอฟิลลิน(Theophylline) หรือ ทีโอโบรมีน(Theobromine) หรือพาราแซนทีน (Paraxanthine) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเข้าเกาะของหมู่เมทิล
หรือจะกล่าวให้ง่ายๆว่า กลุ่มยาเมทิลแซนทีน เป็นอนุพันธ์ย่อยของอนุพันธ์แซนทีนอีกทีหนึ่งก็ได้
ข้อบ่งใช้
- ช่วยรักษาและบรรเทาอาการหอบหืด เช่นยา Theophylline
- ช่วยกระตุ้นประสาท เช่น Caffeine
- ช่วยลดความดันโลหิต เช่น Theobromine แต่มิได้นำมาใช้ในทางยา จะพบเห็นการอ้างสรรพคุณอยู่ในอาหารประเภท Milk chocolate , Dark chocolate , Cola และ ชา
กลไกการออกฤทธิ์
กลุ่มยาเมทิลแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น ช่วยขยายหลอดลม กระตุ้นประสาท ลดความดันโลหิต รวมถึงขับปัสสาวะ แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ตัวยา เมทิลแซนทีนแต่ละตัวได้เหมาะสมที่สุด
ยากลุ่มเมทิลแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยารับประทาน ชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำ
ปริมาณการใช้ยา
ขนาดรับประทานของยากลุ่มเมทิลแซนทีน จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย ร่วมกับการเลือกใช้แต่ละชนิดของยาให้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากที่สุดต่อผู้ป่วย
ผลข้างเคียง
อาจพบผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยากลุ่มเมทิลแซนทีน ดังนี้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ วิงเวียน แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน ปัสสาวะบ่อย เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยาเมทิลแซนทีนเกินขนาด จะพบอาการหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ กระหายน้ำ มีไข้ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรงอ่อนแรง เหงื่อออกมาก หายใจเร็ว ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทัน
การเก็บรักษาเมทิลแซนทีน
สามารถเก็บยาเมทิลแซนทีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– haamor.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM