แผ่นแปะนิโคตินคืออะไร
แผ่นแปะนิโคตินเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้สำหรับแปะติดลงบนผิวหนัง แผ่นแปะนิโคตินจะทำงานโดยการปล่อยนิโคตินในปริมาณน้อยเข้าสู่ร่างกายอย่างช้า ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว และลดความต้องการสูบบุหรี่ รวมถึงช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการถอนบุหรี่ที่มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดบุหรี่หยุดสูบบุหรี่
แผ่นแปะนิโคติน ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ที่มีอาการติดบุหรี่ โดยเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างสะดวกต่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เนื่องจากใช้งานง่าย เพียงแค่แปะลงบนผิวหนังและรอให้แผ่นแปะทำงานเท่านั้น
แผ่นแปะนิโคตินในประเทศไทยมีขนาดที่จำหน่ายอยู่ได้แก่ 17.5 มิลลิกรัม 35 มิลลิกรัมและ 52.5 มิลลิกรัม ซึ่งจะปลดปล่อยนิโคติน 7 มิลลิกรัม 14 มิลลิกรัม และ 21 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแนะนำให้หยุดบุหรี่เมื่อต้องการใช้แผ่นแปะนิโคตินเช่นเดียวกันกับหมากฝรั่ง
แผ่นแปะนิโคตินใช้ได้กับทุกคนหรือไม่
เนื่องจากแผ่นแปะนิโคตินอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่ทุกคน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้แผ่นแปะนิโคตินต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
- อายุต่ำกว่า 18 ปี
- กำลังตั้งครรภ์ อยู่ในระหว่างให้นมบุตร หรือเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้แผ่นแปะนิโคติน
- มีประวัติแพ้เทปกาว หรือป่วยเป็นโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน
- ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือมีปัญหาที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หรือมีประวัติเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือหัวใจขาดเลือด
- มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา โรคตับ โรคไต เบาหวาน มีแผลในกระเพาะอาหาร โรคลมชัก หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดมัยแอสทีเนีย เกรวิส
- กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่น ยารักษาโรคความดันสูง ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ยาขับปัสสาวะ อินซูลิน พาราเซตามอล คาเฟอีน ยาอิมิพรามีน (Imipramine) โอแลนซาปีน (olanzapine) โคลมิพรามีน (clomipramine) ฟลูว็อกซามีน (fluvoxamine) ยาทิโอฟิลลีน (Theophyline) รวมไปถึงอาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้แผ่นแปะนิโคตินที่ต้องเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง เนื่องจากแผ่นแปะนิโคตินบางชนิดอาจมีส่วนผสมที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิวไหม้ขณะเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอได้
แผ่นแปะนิโคติน ใช้อย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย
- ทำความสะอาดมือและผิวหนังบริเวณที่ต้องการแปะแผ่นแปะนิโคตินให้สะอาดก่อน แล้วเช็ดให้แห้ง โดยให้เลือกผิวหนังบริเวณที่เรียบและไม่มีขนเพื่อป้องกันนิโคตินระเหย เช่น สะโพก หน้าอก หรือต้นแขน รวมทั้งเป็นบริเวณที่ไม่มีแผล ไม่มัน และไม่มีรอยแผลเป็น
- นำแผ่นแปะนิโคตินออกจากบรรจุภัณฑ์และลอกออกเพียงครึ่งเดียว โดยระวังอย่าให้นิ้วสัมผัสกับแผ่นแปะด้านที่จะติดลงบนผิวหนัง
- แปะแผ่นแปะนิโคตินลงบนผิวหนัง โดยค่อย ๆ ลอกส่วนที่เหลือออกช้า ๆ และกดให้แผ่นแปะแนบสนิทกับผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณขอบ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่
- ระหว่างการใช้แผ่นแปะนิโคติน ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่หลังจากใช้ครบ 24 ชั่วโมงให้เปลี่ยนแผ่นแปะใหม่ และควรหลีกเลี่ยงการแปะแผ่นซ้ำบริเวณเดิมภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผิวหนังเกิดการระคายเคือง สำหรับการทิ้งแผ่นแปะนิโคตินที่ใช้แล้ว ให้พับแผ่นแปะเข้าหากันก่อน และหลีกเลี่ยงการให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงสัมผัส เนื่องจากนิโคตินที่หลงเหลืออยู่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
- เพื่อการรักษาที่เห็นผล ผู้ป่วยควรใช้แผ่นแปะนิโคตินอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดใช้เองแม้อาการจะดีขึ้น เนื่องจากการหยุดใช้แผ่นแปะเองอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ รวมถึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจการตอบสนองต่อการใช้แผ่นแปะนิโคตินและผลข้างเคียงต่าง ๆ หากแพทย์แนะนำ
- ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดความร้อนขณะติดแผ่นแปะนิโคติน เนื่องจากแผ่นแปะนิโคตินอาจปล่อยนิโคตินออกมามากขึ้นเมื่อผิวหนังเกิดความร้อน ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้
- ที่สำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรแปะแผ่นแปะพร้อมกัน 2 ชิ้นหากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่ควรสูบบุหรี่ขณะใช้แผ่นแปะนิโคตินเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับนิโคตินมากเกินไปจนเป็นอันตรายได้
- หากมีอาการนอนไม่หลับให้นำแผ่นแปะออกก่อนนอนและแปะแผ่นใหม่เมื่อตื่นนอน หรือแปะแผ่นแปะวันละ 16 ชั่วโมง
ขนาดที่แนะนำให้ใช้ขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่สูบโดย
- หากสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ แล้วตามด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์
- หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 21 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ ตามด้วย 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ และต่อด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์
แผ่นแปะนิโคติน ใช้แล้วมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่
การใช้แผ่นแปะนิโคตินอาจส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เกิดอาการแดง คัน หรือแสบร้อนบริเวณที่แปะแผ่น รู้สึกอยากสูบบุหรี่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อยากอาหารมากผิดปกติ น้ำหนักขึ้น หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย หดหู่ ไม่มีสมาธิ และนอนไม่หลับ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการในลักษณะนี้แล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม
แต่หากใช้แผ่นแปะนิโคตินแล้วเกิดอาการที่มีความรุนแรงในลักษณะดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะเป็นพิษจากนิโคติน เช่น ปวดหรือเวียนศีรษะขั้นรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ปวดท้อง มีน้ำลายไหลมากผิดปกติ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ อ่อนเพลีย สับสน เห็นภาพหลอน
- อาการอื่น ๆ เช่น ผื่นขึ้นอย่างรุนแรง ผิวหนังบวม ชัก หายใจลำบาก
ทั้งนี้ การใช้แผ่นแปะนิโคตินเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้นโดยการช่วยลดความรุนแรงของอาการถอนบุหรี่เท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะยังคงพบอาการถอนบุหรี่ในระหว่างใช้แผ่นแปะนิโคติน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่มานานแล้วและผู้ที่สูบบุหรี่ในปริมาณมากในแต่ละวัน
ดังนั้น ผู้ป่วยอาจลองใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยในระหว่างที่ใช้แผ่นแปะนิโคตินเพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเวลา 3–4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อช่วยให้ไม่รู้สึกว่างและควบคุมความเครียด แต่ควรหลีกเลี่ยงการกินจุบจิบ เนื่องจากอาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาตร์
– pobpad.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM