ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นกามโรคชนิดหนึ่งที่ติดต่อจากคนสู่คนโดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม Treponema pallidum (STIs) ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย การทำรักด้วยปากหรือการทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) การจูบที่สัมผัสกับน้ำลาย การสัมผัสกับบาดแผลหรือเยื่อเมือกของผู้ที่ติดเชื้อ หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร ทำให้เป็นแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นเป็นตุ่มนูนแตกออกเป็นแผลกว้างที่ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
ซิฟิลิสติดต่อได้ทางไหนบ้าง
- ทางปาก ผ่านการจูบ
- ทางเพศสัมพันธ์
- จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์
- รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
- สัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย
โรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 เกิดตุ่มเล็กขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศ ริมฝีปาก ลิ้น และหัวนม โดยตุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตก เป็นแผล ไม่มีอาการเจ็บ หากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการเนื่องจากแผลและอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตจะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยจึงมักนิ่งนอนใจว่าไม่ได้เป็นอะไร
- ระยะที่ 2 หลังจากติดเชื้อระยะแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองเริ่มเข้าไปสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มนูนขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน เรียกระยะนี้ว่า “ระยะออกดอก” บางครั้งอาจพบเนื้อตายเน่า มีน้ำเหลืองไหล ซึ่งมีเชื้อซิฟิลิสปน จึงเป็นระยะติดต่อโรคได้ง่าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ มีเพียงไข้ เจ็บคอ หรือปวดเมื่อยตามข้อเท่านั้น ซึ่งเชื้อสามารถสงบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ นานหลายปี เพียงแต่ตรวจพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก
- ระยะที่ 3 เรียกว่าระยะแฝง เป็นช่วงที่ไม่มีอาการ มารดาที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคในระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้
- ระยะที่ 4 หลังจากได้รับเชื้อในระยะเวลานาน 2 – 30 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน รวมถึงอาจส่งผลให้ ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต
โรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายตั้งแต่ระยะเป็นแผลจะพัฒนาเข้าสู่ระยะออกดอก และระยะติดเชื้อที่ทำลายระบบประสาท ระบบหลอดเลือดและหัวใจ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
วิธีป้องกันซิฟิลิส
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย การพบแพทย์ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือหลังจากสังเกตเห็นแผลที่ปากหรืออวัยวะเพศ เป็นวิธีการป้องกันโรคซิฟิลิสได้ดีที่สุด วิธีการป้องกันซิฟิลิสอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ (ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่ใช่คู่ของตน)
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย งดพฤติกรรมโลดโผนทางเพศ
- งดการจูบปาก หรือการทำออรัลเซ็กส์ให้กับคู่เพศสัมพันธ์ชั่วคราว หรือคู่รักข้ามคืน
- งดการใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ไม่สัมผัสบาดแผลของผู้อื่น
- แจ้งให้คู่รักทราบ หากติดเชื้อซิฟิลิส
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเข้าโปรแกรมฝากครรภ์เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
- การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
- การตรวจสุขภาพประจำปี
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
ซิฟิลิส รักษาหายหรือไม่
ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัย หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจและรับการรักษาโดยเร็วเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อซิฟิลิสพัฒนาไปสู่ระยะต่าง ๆ ได้
การรักษาซิฟิลิส มีวิธีการอย่างไร
แพทย์จะทำการรักษาโรคซิฟิลิสด้วยวิธีการฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ขนาดสูงเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการติดเชื้อ ในผู้ที่มีการดำเนินโรคอยู่ในระยะที่ 1 แพทย์จะทำการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อโดยตรงเพียงครั้งเดียวแม้ไม่มีอาการ หรือมีผลการตรวจเลือดเป็นลบโดยเฉพาะกับคู่รักหรือคู่เพศสัมพันธ์
ผู้ที่เป็นซิฟิลิสที่มีการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่ 2-3 แพทย์จะพิจารณาฉีดยาปฏิชีวนะเข้ากล้ามเนื้อทุกสัปดาห์รวม 3 เข็ม และจะพิจารณาให้ยาทางหลอดเลือดดำหากมีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกายหรือในกรณีที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังรับการรักษา 3 เดือน และ 6 เดือน และนัดตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามอาการและเพื่อป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้ายที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ผู้รับการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าผลการตรวจเลือดจะเป็นลบ หรือสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ และควรแจ้งให้คู่เพศสัมพันธ์รับทราบเพื่อให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโรคซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ เพียงตรวจเลือด และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิติเวช,
– โรงพยาบาลศิครินทร์
– medparkhospital
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM