โนโรไวรัส (Norovirus) สาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลัน

อาการติดเชื้อท้องเสียที่ระบาดกันมากในเด็กตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจนั้น อาจไม่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรีย แต่มีต้นเหตุจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งส่งผลให้เด็กมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างรุนแรง ยิ่งถ้าภูมิต้านทานต่ำอาการอาจหนักและร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ย่อมช่วยให้สามารถดูแลป้องกันลูกน้อยและทำการรักษาได้ทันท่วงที

“Norovirus หรือชื่อเดิมว่า Norwalk virus เป็นไวรัสขนาดเล็กชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายถ้วย เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ ไวรัสนี้พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

อาการที่พบได้

คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ  ปวดท้อง  ปวดศีรษะ  มีไข้  ปวดเมื่อยตามตัว สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำเช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็วและมีความดันโลหิตต่ำ

การรักษา

  • ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน
  • ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อน และให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ
  • ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การติดต่อของโรค

  • เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
  • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น
  • เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปาก
  • สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่รักษาและป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้โดยเฉพาะ และเจลแอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยรอบตัว ซึ่งทำได้โดย

  • ก่อนทานหรือหยิบจับอาหารและหลังเข้าห้องน้ำต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • การล้างมือให้สะอาดต้องล้างด้วยน้ำสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่านไม่ต่ำกว่า 15 วินาที
  • ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด สดใหม่
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสควรงดการประกอบอาหาร และเลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น
  • ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดก่อนรับประทาน 
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม
  • เด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลสมิติเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี