ไบโอติน สารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงเส้นผม เล็บ ผิวหนังให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี ทั้งยังมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบเผาผลาญพลังงาน ตลอดจนเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย แต่การรับประทานไบโอตินในรูปแบบอาหารเสริมจะให้คุณประโยชน์เช่นเดียวกันจริงหรือ
ไบโอติน เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามิน B มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “วิตามินบี 7” สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูปแบบต่างๆ ไบโอตินเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ พบในอาหารมากมาย เช่น ไข่ นม หรือกล้วยในปริมาณน้อย โดยมากแล้วมีการใช้ไบโอตินจัดการกับผมร่วง เล็บเปราะ ความเสียหายที่เส้นประสาท และภาวะอื่น ๆ
ไบโอติน มีหน้าที่อย่างไร ?
- รักษาและป้องกันภาวะขาดไบโอติน ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคขาดสารอาหาร การมีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว การได้รับอาหารผ่านทางสายยางเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น ผู้ป่วยที่ขาดไบโอตินอาจมีอาการบ่งชี้ คือ ผมบางลง สีผมเปลี่ยนไป มีผื่นแดงขึ้นรอบดวงตา จมูก และปาก รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า เซื่องซึม มีอาการประสาทหลอน หรือเป็นเหน็บบริเวณแขนและขาได้ การรับประทานอาหารเสริมสามารถช่วยทดแทนไบโอตินส่วนที่ขาดไปได้ อย่างไรก็ตาม ปกติคนเราได้รับวิตามินชนิดนี้จากการรับประทานอาหารอย่างเพียงพออยู่แล้ว อีกทั้งร่างกายสามารถนำไบโอตินที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้น ภาวะขาดไบโอตินจึงเกิดขึ้นได้น้อย
- มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพผม ผิวหนัง และเล็บ เส้นผม ผิวหนัง และเล็บของคนเรานั้นประกอบขึ้นจากโปรตีนเคราตินเป็นหลัก ไบโอตินมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างของเคราตินให้แข็งแรง การขาดไบโอตินอาจส่งผลกระทบต่อเคราตินจนทำให้สุขภาพเส้นผม ผิวหนัง และเล็บอ่อนแอลงได้
- ช่วยในการทำงานของระบบเผาผลาญ ไบโอตินเป็นวิตามินอีกหนึ่งชนิดที่มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบเผาผลาญ โดยจะทำหน้าที่เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงาน ทั้งยังมีส่วนช่วยให้กรดอะมิโนทำงานร่วมกับระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับไบโอติน
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นวิตามินรวม และวิตามินบีหลายชนิด ส่วนมากมีส่วนผสมของไบโอติน
- ออกฤทธิ์โดยเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายอาหารให้กลายเป็นน้ำตาล ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้
- เป็นสารที่สำคัญต่อการมีผิวและเล็บที่มีสุขภาพดี นอกจากนั้นยังช่วยให้ตา ตับ และระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
- มีความสำคัญต่อการพัฒนาการของทารกระหว่างตั้งครรภ์
- ไบโอตินเป็นหนึ่งในวิตามินละลายในน้ำไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ ดังนั้น คุณอาจมีการขาดไบโอตินได้ หากรับประทานอาหารที่มีวิตามินชนิดนี้ไม่เพียงพอ
- การขาดไบโอติน พบได้น้อยสำหรับคนทานอาหารตามปกติ แต่อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
ไบโอตินจากธรรมชาติพบในอาหารชนิดใดบ้าง ?
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของคนเราจะได้รับไบโอตินจากการรับประทานในแต่ละวันอย่างเพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว อาหารที่มีปริมาณไบโอตินสูง ได้แก่
- ไข่แดง
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง หรือวอลนัท
- ถั่วเหลือง หรือพืชตระกูลถั่วชนิดอื่น ๆ
- ธัญพืช
- กล้วย
- ผักชนิดต่าง ๆ เช่น กะหล่ำดอก เห็ด เป็นต้น
ทั้งนี้ ไบโอตินเป็นสารอาหารที่อาจเสื่อมคุณค่าลงหากได้รับความร้อน หากต้องการได้รับไบโอตินในปริมาณมากควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไบโอตินที่ผ่านความร้อนน้อยที่สุด และควรอ่านฉลากโภชนาการเพื่อช่วยในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไบโอตินสูง
ปริมาณไบโอตินที่ควรได้รับต่อวัน
ปริมาณการได้รับไบโอตินต่อวันที่เหมาะต่อความต้องการร่างกายในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกันไป ดังนี้
- เด็กเล็ก ควรได้รับไบโอติน 5-12 ไมโครกรัมต่อวัน
- เด็กโต ควรได้รับไบโอติน 20-25 ไมโครกรัมต่อวัน
- ผู้ใหญ่ ควรได้รับไบโอติน 30 ไมโครกรัมต่อวัน
- ผู้หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับไบโอติน 30-35 ไมโครกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม หากต้องการรับประทานอาหารเสริมไบโอติน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดก่อนใช้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือกำลังใช้ยารักษาโรคชนิดใดก็ตาม
ลักษณะอาการ เมื่อร่างกายขาดไบโอติน
- ผมร่วง
- ผิวแห้ง
- ผื่นรอบตาหรือปาก
- ตาแห้ง
- อ่อนเพลียและซึมเศร้า
ไบโอตินกับการรักษาเรื่องผม
ไบโอติน เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยมสำหรับเส้นผม ผิวหนัง และเล็บมือ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่สนับสนุนว่า การรับประทานไบโอตินอาจหยุดอาการผมร่วง หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือเล็บ อยู่น้อยก็ตาม
เช่นเดียวกันกับการใช้แชมพูที่มี ไบโอติน หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ
มีหลักฐานเล็กน้อยที่แสดงว่า การรับประทาน ไบโอติน เสริมร่วมกับยาอื่นๆ อาจช่วยควบคุมเรื่องผมร่วงที่เกี่ยวกับภาวะหัวล้านในเด็กได้
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้ไบโอติน
ควรตรวจสอบกับแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เนื่องจากมีบางภาวะ หรือยาบางตัว ที่อาจทำให้คุณมีระดับ ไบโอติน ต่ำได้ ควรแจ้งแพทย์หากคุณ
- ต้องล้างไต
- สูบบุหรี่
- รับประทานไข่ขาวดิบวันละมากกว่า 2 ฟอง
- รับประทานยากันชัก
- ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
- เป็นโรคที่ทำให้มีปัญหาเรื่องการดูดซึมลำไส้
อย่างไรก็ตาม วิตามินชนิดนี้เป็นวิตามินที่ปลอดภัยและมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ แต่ก็ควรแจ้งแพทย์ก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะหากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ที่สำคัญอย่าให้เด็กรับประทานวิตามินนี้โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์ นอกจากนั้น ควรสอบถามแพทย์ว่า การรับประทาน ไบโอติน นี้จะส่งผลต่อการทำงานของยาตัวไหนที่คุณกำลังรับประทานอยู่หรือไม่
ผลข้างเคียงของการใช้ไบโอติน
ไบโอติน เป็นวิตามินละลายในน้ำ ไม่สะสมในร่างกาย มีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่พบว่า วิตามินนี้มีความเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด แม้ว่าจะรับประทานในปริมาณมากก็ตาม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web hdmall
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM