อ้วนแต่ทำไมบางคนไม่เป็นเบาหวาน

หลายคนเข้าใจว่า คนอ้วน เท่านั้นที่มักจะมีโอกาสเป็นเบาหวานแต่ความจริงแล้ว จะอ้วนหรือผอม โรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีน้ำหนักมากเกินหรือผอมเกิน แต่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงรวมถึงพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานได้

โรคเบาหวาน คือ โรคที่เซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง โดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอินซูลิน เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนอ้วนมาก แต่กลับไม่เป็นเบาหวาน ในขณะที่บางคนไม่ได้อ้วนเท่าไหร่ แต่กลับมีน้ำตาลสูงปรี๊ด? เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ว่าน้ำหนักเกินหรือเปล่า แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

1. เรื่องของพันธุกรรมและระบบเผาผลาญ

บางคนเกิดมาพร้อมกับ “ระบบเผาผลาญที่เทพ” ซึ่งช่วยให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลและอินซูลินได้ดี แม้ว่าจะมีไขมันเยอะก็ตาม คนกลุ่มนี้เรียกว่า Metabolically Healthy Obese (MHO) 

หมายความว่าร่างกายยังจัดการน้ำตาลได้ดี ต่างจากบางคนที่อ้วนแล้วดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเบาหวาน เรียกว่ากลุ่ม Metabolically Unhealthy Obese (MUO) นั่นเอง

2. ตำแหน่งของไขมันมีผลมากกว่าน้ำหนักรวม

ไขมันไม่ได้เหมือนกันหมด คนที่อ้วนแต่ไขมันไปสะสมใต้ผิวหนัง เช่น ต้นขา สะโพก มักจะปลอดภัยกว่าคนที่ไขมันสะสมรอบอวัยวะภายใน เช่น รอบตับหรือรอบตับอ่อน

 ซึ่งเป็นไขมันที่อันตรายและมีผลต่อการทำงานของอินซูลิน นี่คือเหตุผลว่าทำไมบางคนอ้วนแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน ในขณะที่บางคนดูไม่อ้วนแต่กลับมีไขมันสะสมในที่อันตราย

3. การอักเสบในร่างกายเป็นตัวแปรสำคัญ

ไขมันบางชนิดไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งรบกวนการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลได้แย่ลง 

แต่ถ้าคนที่อ้วนแต่ไม่มีภาวะอักเสบสูง (low inflammatory response) ร่างกายก็ยังคงตอบสนองต่ออินซูลินได้ดี นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่บางคนอ้วนแต่ไม่เป็นเบาหวาน

4. พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีผลเยอะ

คนอ้วนที่สุขภาพดีมักจะมีพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับเพียงพอ 

ซึ่งช่วยให้ร่างกายยังคงเผาผลาญน้ำตาลได้ดี ในขณะที่คนที่ไม่ออกกำลังกาย กินของหวานบ่อย และนอนดึกเป็นประจำ มีโอกาสสูงที่จะเป็นเบาหวาน

5. ฮอร์โมนและระบบเผาผลาญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน กลูคากอน และเลปติน ทำงานแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนร่างกายสามารถควบคุมฮอร์โมนเหล่านี้ได้ดี 

ทำให้แม้จะอ้วนก็ยังจัดการน้ำตาลในเลือดได้ปกติ ในขณะที่บางคนมีระบบเผาผลาญที่ไม่ดีนัก ทำให้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่า

สรุปแล้วอ้วนแต่ไม่เป็นเบาหวานได้จริงไหม?

คำตอบคือ ได้ แต่ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่น้ำหนักตัว แต่รวมถึงพันธุกรรม ตำแหน่งของไขมัน ระดับการอักเสบ พฤติกรรมสุขภาพ และการทำงานของฮอร์โมนด้วย

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตอนนี้ยังไม่เป็นเบาหวาน ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยไปตลอด ถ้ายังไม่ดูแลตัวเอง โอกาสเป็นเบาหวานในอนาคตยังมีอยู่ดี 

เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจ การออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี และตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคนี้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬารัตน์แอร์พอร์ต9
– เพจ หมอเจด
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี