อาการปวดคอร้าวลงแขน ควรรีบปรึกษาแพทย์

อาการปวดคอ เกิดจากหลากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ส่วนใหญ่มักบรรเทาอาการปวดคอด้วยการนวดเพื่อผ่อนคลาย หากมีอาการปวดที่รุนแรง ปวดร้าวลงบ่า ลงแขนและสบัก มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย อาจเกิดจากกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง ซึ่งถือว่าเป็นอาการปวดคอที่อันตราย ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

อาการปวดบริเวณคอเป็นอย่างไร

ลักษณะของ คอ ประกอบไปด้วยกระดูกคอมีจำนวน 7 ชิ้นเรียงต่อกัน ระหว่างแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูก และมีเอ็นและกล้ามเนื้อยึดระหว่างกระดูก โดยภายในกระดูกคอจะมีส่วนของระบบประสาทภายในคือ ไขสันหลังและเส้นประสาท นอกจากนี้ยังมีกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ กระดูกคอสามารถขยับเคลื่อนไหวได้โดยมีข้อต่อเชื่อมระหว่างกัน โดยสามารถเคลื่อนไหวในการก้ม เงย หมุนหันศีรษะได้

อาการปวดบริเวณคอเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน จากกิจกรรมต่างๆ ในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานทำให้มีการเคลื่อนไหวในส่วนของคอมากๆ อาจทำให้โอกาสเกิดอาการปวดคอได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานในสำนักงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ ในยุคที่ต้องทำงานบนจอคอมพิวเตอร์ และต้องทำงานพิมพ์แป้นพิมพ์ก้มๆ เงยๆ มองเอกสารบนโต๊ะสลับกับมองจอต่อเนื่องหลายชั่วโมง การทำกิจกรรมในลักษณะเดิมต่อเนื่องนานๆ ซึ่งถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกวิธี จะทำให้อาการปวดคอได้

อาการปวดคอที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์นั้น อาจปวดแบบเป็นครั้งคราว หรือมีอาการปวดเรื้อรังต่อเนื่องหลายๆ เดือนได้ ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อ มักจะไม่ค่อยเกิดปัญหาเท่าไรนัก ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการทำกิจกรรม เมื่อพักก็สามารถบรรเทา และหายไปได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีอาการปวดคอรุนแรงมากขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ เช่น ภาวะกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ

  1. กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานคอหนักในบางสาขาอาชีพ
  2. การมีประวัติบาดเจ็บที่บริเวณคอ เช่น เอ็น กล้ามเนื้อบริเวณรอบๆคอ เคยมีประวัติอุบัติเหตุที่คอมาก่อนอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดคอเรื้อรังในภายหลังได้, หมอนรองกระดูกแตกหรือเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
  3. กล้ามเนื้อรอบข้อต่อมีการอักเสบจากสาเหตุต่างๆ เช่นจากการการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์หรือเกิดการการติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง
  4. การใช้งานคอหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ผิดสุขลักษณะ เช่น นอนศีรษะผิดท่า, กิจกรรมในการทำงานที่ต้องก้มๆเงยๆบ่อยๆ หรือหันศีรษะโดยกล้ามเนื้อคอ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะมีอาการมีอาการปวดตื้อที่ศีรษะบริเวณท้ายทอยร่วมด้วย

วิธีการบรรเทาอาการปวดคอเบื้องต้น

  1. ใช้ยาบรรเทาอาการปวด จะให้ยาจากการประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก หากมีอาการปวดต้นคอไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดสามัญในเบื้องต้น และสังเกตอาการ
  2. การทำกายภาพบำบัดและการนวดเบาๆ ในบริเวณที่ปวด เช่น การใช้การประคบร้อน หรือการใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สามารถทำได้เอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกายภาพให้คำแนะนำ
  3. ใส่ปลอกคออ่อน เมื่อวินิจฉัยแล้วอาการปวดคอ ไม่ควรขยับคอมาก การลดการเคลื่อนไหวคอสามารถช่วยทำให้อาการปวดคอบรรเทาลงไปได้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

เมื่อสังเกตว่ามีอาการปวด คอ บ่า หรือไหล่ เป็นเวลานานผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการปวดคอนานต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ แม้ว่าจะปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดคอดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอะไร

แม้ว่าอาการการปวดคอส่วนใหญ่สามารถให้การรักษาทางยาและการทำกายภาพบำบัดได้ แต่บางกรณีผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบว่าอาการที่เป็นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางรายอาการปวดคอแม้ไม่มากแต่อาจพบมีหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทไปแล้ว บางกรณีเมื่อมาพบแพทย์เมื่อสายในขณะที่โรคมีความรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการอ่อนแรง มีอาการอัมพาต มีกล้ามเนื้อลีบ ไม่สามารถใช้มือทำงานได้ ไม่สามารถควบคุมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมือที่มีความละเอียดได้ ไม่สามารถควบคุมของกล้ามเนื้อนิ้วมือทำงานได้เช่นหยิบของหล่น จับแก้วแล้วแก้วหลุดน้ำหกบ่อยๆ เป็นต้น

กรณีเหล่านี้ ถ้ามีการกดเส้นประสาทรุนแรงและนาน เมื่อมารับการรักษาที่ช้าเกินไปอาจแก้ไขกลับให้เหมือนดังเดิมได้ยาก หรือกรณีที่พบโรคบางอย่างที่ลุกลาม เช่น เนื้องอกในบริเวณกระดูกสันหลัง หรือมีภาวะติดเชื้อที่กระดูกสันหลังก็สามารถลุกลามรุนแรงรักษาได้ยากขึ้น

หากมีอาการลักษณะนี้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

  1. การปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน สะบัก เช่น เวลาหันศีรษะจะมีอาการคล้ายไฟฟ้าช็อต หรือมีอาการชาหรือแสบร้อนบริเวณแขนหรือมือหรือการรับความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป
  2. มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา หรือมีกล้ามเนื้อเกร็งผิดปกติ
  3. ขยับคอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บรุนแรงเวลาขยับร่วมด้วย
  4. มีคอผิดรูป เช่น คอเอียง คอก้มผิดรูป หรือคลำได้ก้อนผิดปกติบริเวณคอ
  5. มีอาการร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้สูง กดเจ็บ ร่วมกับอาการปวดคอรุนแรง หรืออ่อนแรงร่วมด้วย
  6. มีประวัติอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่คอโดยตรง หรือเป็นการกระแทกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของคออย่างแรง แล้วตามมาด้วย อาการปวดคอ ชาแขน ชามือ แขน หรือมือมีอาการอ่อนแรง ปวดร้าวเสียวไฟฟ้าช็อตลงไปแขน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปโรคอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทบกับคุณภาพชีวิตได้ เช่นนั้นหากมีอาการควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– nakornthon.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี