วิธีใช้เครื่องวัดความดัน-วิธีการวัดความดันโลหิต

เครื่องวัดความดันโลหิต คือ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดค่าความดัน ของกระแสเลือด ภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจ โดยที่เมื่อหัวใจบีบตัว จะได้ค่า ความดันตัวบน (Systolic Blood pressure) และเมื่อหัวใจคลายตัว จะได้ค่า ความดันตัวล่าง (Diastolic blood pressure)

ขั้นตอนการวัดความดันโลหิตที่ถูกวิธี

1.การเตรียมตัวก่อนวัดความดันโลหิต
งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ก่อนวัด 30 นาที และควรนั่งพัก 5 นาที ก่อนเริ่มวัด

2.พันผ้าพันแขนให้ถูกต้อง

  • ควรวัดความดันแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่ได้ค่าความดันโลหิตสูงกว่า
  • อย่าใส่เสื้อหนา หรือเสื้อที่รัดแขนแน่น
  • พันผ้าพันแขนให้อยู่เหนือข้อศอก 1-2 ซม.
  • พันให้แน่นกำลังดี คือยังสอดนิ้วเข้าไปได้ 1-2 นิ้ว
  • ให้สายวางตามแนวนิ้วกลาง-นิ้วนาง อย่าให้สายงอ

3.นั่งให้ถูกต้อง

  • นั่งหลังตรงบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง วางเท้าสองข้างราบกับพื้น ไม่ไขว้ขา
  • วางแขนที่วัดให้ราบบนโต๊ะ ไม่กำมือ ให้ผ้าพันแขนอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ

โรคความดันโลหิตสูงจะก่อให้เกิดปัญหากับ

โรคความดันโลหิตสูงมักถูกมองว่าเป็นฆาตกรเงียบ จากความร้ายกาจที่มักไม่แสดงอาการ คนส่วนใหญ่จึงสังเกตไม่เห็น จนกว่าจะมีอาการแทรกซ้อน และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะก่อให้เกิดปัญหากับ

  • สมอง ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ แตก ตัน ก่อให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต
  • หัวใจ ก่อให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน และ หัวใจขาดเลือด
  • ไต ทำให้ไตวายเรื้อรัง
  • ตา ทำให้เลือดออกที่จอตา และประสาทตาเสื่อม

รู้ทันฆาตกรเงียบ ด้วยการวัดความดันโลหิตที่บ้าน

เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงอันตราย เราจึงควรรู้ค่าความดันโลหิตของเราให้ดี ที่สำคัญเราควรวัดความดันโลหิตที่บ้านเป็นประจำด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ

  • บางคนเป็นโรคกลัวหมอ ดังนั้นการให้หมอหรือพยาบาลวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล อาจทำให้เครียดหรือกังวล ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงกว่าความจริง
  • ความดันโลหิตของเราเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ขึ้นกับกิจกรรมที่ทำ ความเครียด เวลาที่วัด เราจึงควรวัดความดันโลหิตที่บ้านในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อจะได้รู้สภาวะความดันโลหิตเฉลี่ยที่ถูกต้องของเราในขณะพัก เมื่อวัดได้ว่าความดันโลหิตสูงขึ้น เราจะได้ทราบว่าเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

สัญญาณเตือนของโรคความดันโลหิตสูง
รีบพบแพทย์ หากมีอาการปวดหรือเวียนศรีษะ เจ็บหน้าอก เลือดออกที่จมูกบ่อยๆ รู้สึกเมื่อยล้า มีปัญหาการมองเห็น เพราะนี่เป็นสัญญาณเตือนของโรความดันโลหิตสูง

คุณเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่
ความดันโลหิตสูงเป็น 1 ใน 5 โรคที่คนไทยเป็นกันมากที่สุดนอกจากโรคเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง และอัมพาต โดยกว่า 30% ของคุณไทยที่อายุ 45 – 70 ปี ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนคนอายุมากกว่า 70 ปี ป่วยเป็นโรคนี้ถึงกว่า 50%

  • อยู่ในวัยกลางคน ความดันโลหิตสูงพบมากในคนอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป
  • มีน้ำหนักตัวมาก หัวใจจึงต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายแรงขึ้น
  • เป็นโรคเบาหวาน คนเป็นเบาหวานมีโอกาสความดันโลหิตสูงกว่าคนไม่เป็นเบาหวาน
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มกาแฟ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเพิ่มความดันโลหิต
  • เครียด คนในเมืองจึงมีโอกาสความดันโลหิตสูงมากกว่าคนในชนบท
  • รับประทานเค็ม เพราะเมื่อรับประทานเกลือโซเดียมมากๆร่างกายจะกระตุ้นให้อยากดื่มน้ำ เมื่อภายในร่างกายมีน้ำมากขึ้น ระบบหมุนเวียนโลหิตก็ยิ่งต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงในที่สุด

วิธีป้องไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

คุณสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลความดันโลหิตสูงได้หลายวิธี ซึ่งดีกว่าการรักษาที่ปลายเหตุด้วยการกินยา

ลดน้ำหนักส่วนเกิน ควบคุมดัชนีมวลกาย(BMI) ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม

วิธีคำนวณ BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)^2
เกณฑ์ ดัชนีมวลกาย (BMI)
เหมาะสม 18.5- 22.9
น้ำหนักมาก 23.0 – 24.9
อ้วน มากกว่า 25.0

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินวันละ 10,000 ก้าว ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกพบว่าสามารถ ช่วยลดค่าความดันโลหิต
เลิกดื่มแอลกอออล์ และงดสูบบุหรี่ กินอาหารลดความดัน ลดเกลือโซเดียม (กินน้ำปลาไม่เกิน1/2 ช้อนโต๊ะ/มื้อ) หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด กินผักผลไม้สดและปลามากขึ้น กินเนื้อสัตว์น้อยลง โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ที่มีหนังติดมัน และเนื้อปรุงแต่ง เช่น ไส้กรอก หมูแฮม เบคอน
หายใจช้า+ฝึกสมาธิ เพราะการหายใจช้า คือ หายใจต่ำกว่า 10 ครั้งต่อนาทีเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน จะช่วยลดความดันได้ และการฝึกสมาธิยังช่วยให้เราหายใจช้าลงและช่วยคลายเครียดด้วย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– medi2you
– วิกิพีเดีย
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี