ในประเทศที่มีอากาศร้อนแบบไทย เหงื่อออกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ไม่ว่าจากการเดิน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนอกสถานที่ต่างๆ หรือในบางคนแค่อยู่เฉยๆ ก็เหงื่อออกได้แล้ว แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมบางคนเหงื่อออกแล้วผื่นแดงขึ้นตามหน้าและลำตัว ทั้งยังมีอาการคันอีกวัน วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับ “โรคแพ้เหงื่อตัวเอง” อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษา มาดูกันเลย
โรคแพ้เหงื่อตัวเอง คือโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis) ชนิดหนึ่งซึ่งแสดงอาการออกมาในรูปแบบผื่นกัน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีลมพิษเรื้อรัง โรคหอบหืดหรือโรคจมูกอักเสบมาก่อน หรือร่วมด้วย
6 อาการเบื้องต้น อาจ “แพ้เหงื่อตัวเอง”
- ส่วนมากแล้วอาการแพ้เหงื่อจะเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ รอบดวงตา และบริเวณใบหน้า เป็นต้น
- มีอาการคันมากยามเหงื่อออก โดยเฉพาะจุดที่มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ เช่น ลำคอ ใบหน้า ขาหนีบ แขน ขา ข้อพับ
- เวลาเหงื่อออกทีไรมักจะตามมาด้วยผื่นแดงหรือตุ่มใสเป็นประจำ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดแค่ไหนก็ตาม
- จะมีตุ่มหรือผื่นแพ้ที่เกิดบนผิวหนัง ซึ่งจะอยู่แค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสามารถหายไปเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่เหงื่อออกอีกครั้ง อาการคันก็จะกลับมา
- มีสิวขึ้นบริเวณตรงที่เหงื่อออก แต่ต้องบอกก่อนว่ามีหลายคนคิดว่าตัวเองมีอาการแพ้เหงื่อแล้วสิวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วผื่นบนผิวหนังนั้นเป็นผื่นที่เกิดจากการแพ้ ไม่ใช่สิว หรือถ้าหากพบว่ามีตุ่มใสขึ้น ลักษณะหน้าตาคล้ายๆสิวอักเสบนั้นต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงเนื่องจากอาการแพ้ที่เกิดจากเหงื่อที่จะแสดงออกมาในรูปของผื่นคันหรือตุ่มคัน และรอยแดงๆ บนผิวหนังเท่านั้น
- คนที่มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคแพ้เหงื่อตัวเองนั้นอาจจะเป็นคนที่เป็นโรคแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นลมพิษเรื้อรัง คนที่มีโรคหอบหืด หรือโรคจมูกอักเสบ
สาเหตุที่แพ้เหงื่อตัวเอง
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคแพ้เหงื่อตัวเองมีหลายประการ โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้เหงื่อตัวเองคือ ความร้อนที่ทำให้ต่อมเหงื่อของร่างกายผลิตเหงื่อออกมา เมื่อผิวหนังของผู้ป่วยมีปฏิกริยาต่อส่วนประกอบของเหงื่อผ่านระบบภูมิต้านทานใต้ผิวหนัง ก่อให้เกิดลมพิษ ผื่นแดงตามร่างกาย นอกไปจากสาเหตุนี้ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัย มีฝุ่นละออง เชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรียเยอะ ยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้เหงื่อตัวเองได้ง่ายขึ้น หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว หากสัมผัสกับเหงื่อก็พร้อมเกิดปฏิกริยาให้เกิดอาการคันได้ทันที สำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กก็มีโอกาสที่เมื่อเหงื่อออกแล้วจะทำปฏิกริยากับเชื้อโรคที่อยู่รอบตัวจนเกิดเป็นอาการแพ้เหงื่อตัวเองได้เช่นกัน
โรคแพ้เหงื่อตัวเองมีวิธีรักษาหลากหลายวิธี สามารถเริ่มได้โดยการพบแพทย์ เมื่อมีอาการคันแพ้เหงื่อตัวเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อทำการตรวจเช็คอาการและรักษาโรค แพทย์อาจจ่ายยาแก้แพ้เหงื่อตัวเองมาให้ โดยแบ่งออกเป็น
วิธีรักษาอาการแพ้เหงื่อตัวเอง
- ยาทาแพ้เหงื่อตัวเอง เช่น ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง บรรเทาอาการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ช่วยไม่ให้ผิวหนังบาง
- ยารับประทาน ยาแก้แพ้สามารถยับยั้บสารฮีสตามีน (Histamine) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ บรรเทาอาการแพ้เหงื่อตัวเอง ทำให้อาการแพ้ค่อยๆ ลดลง เช่น
ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine)
ลอราทาดีน (Loratadine)
เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine)
ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
เซทิริซีน (Cetirizine) - ยาฉีดรักษาแพ้เหงื่อตัวเอง ฉีดยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) สำหรับในผู้ป่วยรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเท่านั้น ยาจะช่วยขยายช่องทางเดินหายใจแก้อาการหายใจไม่ออก
การป้องกันอาการแพ้เหงื่อตัวเอง
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรผิวแพ้ง่าย อ่อนโยน เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ไม่ทำให้ผิวบอบบางของผู้ที่มีโรคแพ้เหงื่อตัวเองระคายเคืองผิวได้
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น
สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นเพราะความร้อนจากน้ำอุ่นจะทำให้เกิดเหงื่อ ซึ่งจะมีอาการแพ้เหงื่อตัวเองตามมาได้ หลังจากอาบน้ำควรเช็ดผิวหนังให้แห้ง และทาโลชั่นชโลมผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวแห้งคัน - สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้ เช่น เสื้อหนาๆ เสื้อโค้ท เพราะจะทำให้เกิดเหงื่อ ไม่สามารถระบายอากาศออกไปได้ เกิดเป็นความอับชื้น กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เหงื่อตัวเองในที่สุด จึงควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป - หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
เช่นหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด หรือสถานที่ที่มีฝุ่นละอองเยอะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้เหงื่อตัวเองขึ้นมาได้ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันผิวหนัง เช่น แว่นตากันแดด หน้ากากอนามัย นอกไปจากนี้ ยังควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรรับประทานอาหารที่จะก่อให้เกิดเหงื่อได้ง่าย เช่น อาหารรสชาติเผ็ด หรือเครื่องดื่มร้อน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
– bioderma.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM