โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังชนิดหนึ่งที่ร่างกายมีการหลั่งสารการอักเสบไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้มีการแบ่งตัวที่เร็วขึ้น ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา เด่นบริเวณศีรษะ ไรผม ข้อศอก ข้อเข่า และเล็บ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการอักเสบของระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น ข้ออักเสบ เพิ่มโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ “โรคสะเก็ดเงิน” ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อหรือแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้
สาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน
- พันธุกรรม
- การติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อสเตปโตคอคคัสในระบบทางเดินหายใจ
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ความเครียดรุนแรง
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์ การมีรอบเดือน
ผื่นสะเก็ดเงินเป็นอย่างไร?
รอยโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อยที่สุด คือ มากกว่า 80% ของผู้ป่วย มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง นูน หนา เป็นรูปร่างกลม และมีสะเก็ดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบผื่นผิวหนังได้อีกหลายลักษณะ คือ
- ผื่นขนาดเล็กๆ เป็นตุ่มนูนแดง มีขุยกระจายทั่วไป ในบริเวณลำตัว แขน และขา
- ผื่นเป็นตุ่มหนองตื้นบนรอยโรคสีแดง
- ผื่นแดงอักเสบบริเวณซอกรักแร้ ซอกขา
- ผื่นแดงลอกทั้งตัว
โดยผื่นสะเก็ดเงิน จะพบได้บ่อยที่บริเวณ หนังศีรษะ ผิวหนังที่มีการเสียดสี แกะ เกา เช่น ศอก เข่า ลำตัว ก้นกบ และยังสามารถพบได้ทุกแห่งของร่างกาย ได้แก่ เล็บ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ โดยการกระจายของผื่นมักจะเกิดขึ้น 2 ข้างของร่างกายเท่าๆ กัน
โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อได้หรือไม่?
โรคสะเก็ดเงินไม่นับว่าเป็นโรคติดต่อ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะสามารถติดต่อโรคนี้ได้
การรักษา
สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ มีสาเหตุที่จะทำให้โรคกำเริบขึ้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น เช่น การดื่มเหล้า ความเครียด เป็นต้น
วิธีการรักษามีหลายวิธี
- ยาทา
- น้ำมันดิน Dithranol
- สเตียรอยด์ Calciprotriol ยารับประทาน
- ยาฉีด Biologic
- การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการอดนอน งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหาวิธีผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย พูดคุยกับคนรอบข้าง
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
- ระวังการแกะเกาบริเวณผื่นสะเก็ดเงิน เพราะจะทำให้อักเสบมากขึ้นและอาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้
- ดูแลผิว ทาครีมบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้น และทายาภายนอกเพื่อลดการอักเสบผิวหนังสม่ำเสมอ
- กรณีรับประทานยาหรือยาฉีด ควรปฏิบัติตามแพทย์ มารับการรักษาต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง และเมื่อเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีปฏิกิริยาต่อยารักษาสะเก็ดเงิน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลศิครินทร์
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– Website Ramachanel
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM