แนะนำตัวยาสำหรับรักษาโรคสังคัง วิธีการใช้ ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

โรคสังคัง(Tinea Cruris)  ถือเป็น โรคผิวหนัง ที่พบได้ค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ โรคสังคัง เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อยู่ตามผิวหนัง เล็บและเส้นผมของมนุษย์ซึ่งโดยปกติจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากผิวหนังมีความอับชื้นสูงบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ เนื่องจากความชื้นเป็นปัจจัยให้เชื้อราชนิดนี้เติบโตได้ดี โรคนี้จะเกิดบ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีความอับชื้อสูง เช่น ขาหนีบ ต้นขา และอาจลามมาบริเวณอวัยวะเพศด้วย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากกว่าในเพศชายโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น  แล้วสังคังจะใช้ยาชนิดไหนเพื่อรักษาได้บ้าง เรามาดูกันเลย

ยาทาแก้สังคัง ส่วนใหญ่แล้วตัวยาที่มักจะใช้ในการรักษาจะเป็นยาทาผิวหนังที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อรา มักจะลงท้ายด้วย “โซล” เช่น 

1.Miconazole (ไมโคนาโซล)

ข้อบ่งใช้

ยา Miconazole (ไมโคนาโซล) ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคสังคัง โรคกลาก และการติดเชื้อราที่ผิวหนังอื่นๆ อย่างการติดเชื้อราแคนดิดา ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาสภาวะของผิวหนังที่เรียกว่าโรคเกลื้อน ซึ่งเป็นการติดเชื้อรา ที่ทำให้ผิวมีสีขาวขึ้นหรือคล้ำขึ้นที่บริเวณคอ หน้าอก แขน หรือขา ยาไมโคนาโซลเป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungal) ที่ทำงานโดยการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา

วิธีการใช้ยา Miconazole (ไมโคนาโซล)

ยานี้ใช้เฉพาะกับผิวหนังเท่านั้น ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการจะรักษาให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ทายาลงบริเวณที่มีอาการ โดยปกติคือวันละ 2 ครั้งหรือตามที่แพทย์กำหนด หากคุณใช้ยาแบบพ่น ควรเขย่าขวดยาให้ดีก่อนใช้ ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อที่กำลังรักษา อย่าใช้ยามากกว่าที่กำหนด อาการของคุณจะไม่หายไวขึ้น แต่ผลข้างเคียงอาจเพิ่มขึ้น

  • ทายาแค่พอครอบคลุมบริเวณที่มีอาการ และบริเวณโดยรอบ หลังจากทายาแล้วควรล้างมือให้สะอาด อย่าพันผ้าพันแผลหรือปิดบริเวณนั้น นอกเสียจากแพทย์จะสั่งให้ทำ
  • อย่าทายานี้ที่ดวงตา จมูก ปาก หรืออวัยวะเพศ
  • ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด แม้อาการจะหายไปหลังจากคุณเริ่มใช้ยา ไมโคนาโซล การหยุดใช้ยาเร็วเกินไป อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตต่อไป และส่งผลให้การติดเชื้อกำเริบได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Miconazole

โดยปกติ ยา Micomazole มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการคัน ผิวบาง ผิวแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการรุนแรงดังต่อไปนี้

  • แพ้ยาอย่างรุนแรง แม้พบได้น้อยแต่อาจทำให้มีอาการรุนแรง เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมโดยเฉพาะที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น
  • ผิวไหม้ หรือปวดแสบปวดร้อน
  • แผลเปิดและมีของเหลวไหลออกมา
  • ผิวหนังพองอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังแตกเป็นแผ่น
  • ผิวหนังแดง บวม เกิดการระคายเคือง และรู้สึกเจ็บเมื่อกด
  • มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง

2. Clotrimazole (โคลไตรมาโซล)

ข้อบ่งใช้

ยา Clotrimazole (โคลไตรมาโซล)ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า (athlete’s foot) โรคสังคัง (jock itch) โรคกลาก (ringworm) และการติดเชื้อราที่ผิวหนังอื่นๆ หรือการติดเชื้อแคนดิดา (candidiasis)

ยาโคลไตรมาโซลยังใช้เพื่อรักษาสภาวะของผิวหนังที่เรียกว่าโรคเกลื้อน (tinea versicolor) ซึ่งเป็นการติดเชื้อรา ที่ทำให้ผิวเป็นวงขาวหรือคล้ำ ที่บริเวณคอ หน้าอก แขน หรือขา ยาโคลไตรมาโซลเป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungal) ทำงานโดยการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา

วิธีใช้ยา Clotrimazole (โคลไตรมาโซล)

  • ยาโคลไตรมาโซลใช้ทาที่ผิวหนังเท่านั้น ทำความสะอาดบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้ง ทายาลงในบริเวณที่มีอาการ โดยปกติ คือ วันละสองครั้ง หรือตามที่แพทย์กำหนด
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับประเภทของการติดเชื้อ อย่าใช้ยาบ่อยกว่าที่กำหนด เพราะไม่ได้ช่วยให้อาการของคุณหายไวขึ้น แต่อาจเพิ่มผลข้างเคียงได้
  • ทายานี้ให้ครอบคลุมบริเวณที่มีอาการและบริเวณโดยรอบ หลังจากที่ทายาโคลไตรมาโซล ควรล้างมือให้เรียบร้อย อย่าพันผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่มีอาการ เว้นแต่แพทย์จะสั่ง
  • อย่าทายาโคลไตรมาโซลที่ดวงตา จมูก ปาก หรือช่องคลอด
  • ใช้ยาโคลไตรมาโซลเป็นประจำ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด และเพื่อให้จำง่ายขึ้น ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ใช้ยาโคลไตรมาโซลต่อเนื่องจนครบกำหนด แม้ว่าอาการจะหายไปหลังจากเริ่มใช้ยานี้ การหยุดใช้ยาเร็วเกินไป อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตต่อไป แล้วทำให้การติดเชื้อกำเริบได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่หายไป หลังจากที่รักษาผ่านไป 4 สัปดาห์ หรือมีอาการหนักขึ้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Clotrimazole

การใช้ยา Clotrimazole อาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เกิดรอยแดงตามผิวหนัง คันผิวหนัง แสบร้อนผิวหนัง และเกิดแผลพุพอง ซึ่งผู้ใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเกิดอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่หากผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ ผู้ใช้ยาควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน หรืออาเจียน
  • มีไข้ 
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากช่องคลอด
  • มีอาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ลมพิษ ใบหน้าบวม ลิ้นบวม และริมฝีปากบวม

3. Ketoconazole (คีโตโคนาโซล)

ข้อบ่งใช้

ยา Ketoconazole (คีโตโคนาโซล)ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราที่รุนแรงบางชนิดภายในร่างกาย เช่น เชื้อราในเลือด เชื้อราในปอด เชื้อราในช่องคลอด กลาก เกลื้อน หรือรังแค  ยา คีโตโคนาโซล จัดอยู่ในกลุ่มของยาที่เรียกว่า ยาต้านเชื้อราเอโซล (azole antifungals) คีโตโคนาโซล ทำงานโดยการยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา

วิธีใช้ยา Ketoconazole (คีโตโคนาโซล)

  • ใช้ยาคีโตโคนาโซลตามที่แพทย์กำหนด ตามปกติ คือ วันละครั้งโดยสามารถรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารหรือแยกต่างหากก็ได้ แต่หากรับประทานพร้อมกับอาหารจะช่วยลดอาการท้องไส้ปั่นป่วนได้
  • หากคุณกำลังใช้ยาลดกรด ควรรับประทานยาลดกรดก่อนยาคีโตโคนาโซล 1 ชั่วโมง หรือหลังยาคีโตโคนาโซล 2 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นยาคีโตโคนาโซลอาจไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย (อ่านเพิ่มเติมในส่วนของปฏิกิริยาของยา)
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา หากเป็นเด็ก ขนาดยายังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวด้วย การรักษาด้วยยาคีโตโคนาโซลอาจต้องใช้เวลานานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์กว่าที่จะรักษาอย่างเสร็จสมบูรณ์
  • ยาคีโตโคนาโซลจะทำงานได้ดีที่สุด หากมีปริมาณของยาภายในร่างกายอยู่ในระดับคงที่ ดังนั้น จึงควรรับประทานยาคีโตโคนาโซลโดยเว้นระยะห่างที่เท่ากัน และเพื่อให้จำง่ายขึ้น ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ควรใช้ยาคีโตโคนาโซลอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดแม้ว่าอาการจะหายไปหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน การหยุดใช้ยาเร็วเกินไปอาจทำให้กลับมาติดเชื้ออีกครั้ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่หายไปหรือแย่ลง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ketoconazole (คีโตโคนาโซล)

การใช้ยาคีโตโคนาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ โดยผลข้างเคียงทั่วไปที่เกิดได้จากการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และปวดท้อง ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาในรูปแบบครีมหรือแชมพู อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผิวหนัง เช่น มีอาการคัน ผิวหนังไหม้ ผิวหนังลอก หรือผิวหนังตกสะเก็ด

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • มีอาการปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม รวมถึงหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
  • มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับตับ โดยสังเกตได้จากการรู้สึกเจ็บปวดบริเวณท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อยอ่อน ร่างกายอ่อนเพลียผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร และปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ มีไข้ มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก

นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ที่เป็นโรคสังคังควรใส่ใจกับการดูแลทำความสะอาด ไม่ปล่อยให้อับชื้น และหากมีน้ำหนักตัวมากก็ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– haamor.com
– pobpad.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี