คลื่นไส้ (Nausea) คืออาการอึดอัดมวนภายในท้อง ทำให้รู้สึกอยากอาเจียน ซึ่งอาจอาเจียนออกมาหรือไม่ก็ได้ โดยอาการคลื่นไส้สามารถเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือเกิดอาการเรื้อรัง หากรู้สึกคลื่นไส้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียตามมาด้วย ทั้งนี้ คลื่นไส้คืออาการอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ สามารถเกิดได้จากปัญหาสุขภาพกาย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทสมอง ความสมดุลของหูชั้นใน และเกิดได้จากปัญหาทางด้านจิตใจ
อาเจียน คือ อาการสำรอกอย่างแรง เพื่อให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารย้อนกลับออกมาทางปากอย่างรวดเร็ว โดยใช้กำลังของกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหายใจ รวมทั้งกะบังลม วันนี้เราจึงมีเทคนิคแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนมาฝากกัน
- สูดหายใจลึกๆ สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย และบรรเทาอาการวิงเวียนหรือปวดหัวได้
- นั่งในที่อากาศปลอดโปร่ง หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางสถานที่แออัด หรือมีผู้คนพลุกพล่าน เพราะจะยิ่งทำให้เราหายใจไม่ออก และคลื่นไส้มากยิ่งขึ้นดมยาดม หรือยาหม่อง กลิ่นหอมเย็นจากเมนทอล การบูร พิมเสน จะช่วยให้ทางเดินหายใจเราโล่งขึ้น และยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาอาการวิงเวียนคลื่นไส้ได้
- ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ การค่อยๆ จิบเครื่องดื่มเย็นๆ จะช่วยให้เราสดชื่น และแก้อาการเมา วิงเวียน และคลื่นไส้ได้ อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้รสเปรี้ยวผสมโซดา แต่ควรค่อยๆ จิบทีละน้อย
- ทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากรู้ตัวอยู่แล้วว่าเรามักมีอาการคลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ และใช้เทคนิคไหนก็เอาไม่อยู่ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือการทานยาแก้คลื่นไส้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้เป็นผู้สั่งจ่ายยาให้ จะดีและปลอดภัยที่สุด
อาการอาเจียนเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการอาเจียน เริ่มต้นจากศูนย์ในสมอง 2 ศูนย์ คือ ศูนย์อาเจียน (Vomiting Centre) และศูนย์ซีทีแซด (CTZ) เมื่อศูนย์อาเจียนได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น จากทางเดินอาหาร หรือ จากศูนย์ซีทีแซด ศูนย์อาเจียนก็จะส่งสัญญาณประสาทออกจากศูนย์ไปยังกะบังลม ทำให้กะบังลมบีบตัวส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อหน้าท้องเกิดการเกร็ง และไปยังกระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ทำให้คลายตัว ทำให้เศษอาหารถูกผลักออกจากปาก และเกิดอาเจียนในที่สุด
อาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดจากอะไรได้บ้าง?
- การติดเชื้อ ที่ทำให้เกิดการอาเจียนที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส เช่น ลำไส้อักเสบ หรือติดเชื้อ
- ภาวะที่มีการอักเสบของทางเดินอาหาร เช่น แพ้อาหาร ก็ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ในเด็กมักเกิดจากแพ้โปรตีนนมวัว และ นมถั่วเหลือง
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ปวดหัว ไมเกรน ความดันในสมองสูง ความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นในทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ เป็นต้น
- ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง การอุดตัน หรือโรคมะเร็งในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น อาการแพ้ท้อง อาการคลื่นไส้อาเจียนของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ได้รับยาและสารบางชนิด เช่น ยาสลบ ยารักษามะเร็ง ยาเคมีบำบัด ซึ่งยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา
- ท้องอืด หากกินข้าวเสร็จแล้วนอนทันที ทำให้อาหารไม่ย่อย จึงอาจทำให้อาเจียนได้เล็กน้อย
- โรคหัวใจบางชนิดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
- ความผิดปกติของเมตาบอลิค เช่น ภาวะไตวาย ภาวะตับแข็ง โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- คลื่นไส้อาเจียน ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- คลื่นไส้อาเจียน จากอุบัติเหตุจากแรงกระแทก
การป้องกันอาการคลื่นไส้
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสาเหตุของอาการคลื่นไส้ จะช่วยป้องกันผู้ป่วยไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้ดีที่สุด โดยทั่วไป อาการคลื่นไส้สามารถป้องกันได้ โดยปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้
- เลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่มีแสงไฟวิบวับซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน รวมทั้งเลี่ยงอยู่ในที่ที่อับชื้น
- ไม่ควรดมสิ่งของ น้ำหอม ควัน หรืออาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง
- เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ และกินบ่อย ๆ เพื่อให้กระเพาะอาหารไม่อิ่มแน่นจนเกินไป การแบ่งอาหารมื้อย่อยจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ อีกทั้งเมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ไม่ควรทำกิจกรรมหนัก ๆ ทันที
- เลี่ยงรับประทานอาหารค้างคืนหรืออาหารที่เริ่มมีกลิ่นบูด รวมทั้งงดอาหารรสจัด ไขมันสูง และน้ำมันเยิ้ม
- ผู้ที่เมารถเมาเรือง่ายไม่ควรอ่านหนังสือขณะยานพาหนะวิ่ง และเลือกที่นั่งที่ทำให้กระเทือนน้อยที่สุด รวมทั้งรับประทานยาแก้คลื่นไส้ก่อนออกเดินทาง ก็สามารถช่วยลดอาการเมาได้
- เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาแก้คลื่นไส้ก็ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากจะทำให้อาการป่วยแย่ลงกว่าเดิม
- หากเกิดอาการคลื่นไส้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ควรทำบันทึกรายชื่ออาหารเพื่อดูว่าอาหารชนิดใดที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– pobpad.com
– โรงพยาบาลศิครินทร์
– ชีวิตดีดี.COM
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM