ยาสเตียรอยด์ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ปัจจุบัน อาการผื่นคัน ผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง หรือแม้แต่สิว มักรักษาด้วยการใช้ยาทา เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณที่ต้องการ มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาน้อย เช่นเดียวกับ ยา สเตียรอยด์สำหรับใช้ทาภายนอก ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำหน่ายอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครีม เจล โลชัน หรือขี้ผึ้ง และแต่ละรูปแบบมีลักษณะของผลิตภัณฑ์และวิธีใช้ที่แตกต่างกัน

ยาที่มีบทบาทมากในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบ คัน หรือแพ้ คือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกันและอื่น ๆ เหมือนกับคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต โดยพบว่าโรคผิวหนังเช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) โรคผิวด่างขาว (vitiligo) มีการตอบสนองได้ดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (topical steroids)

ยาสเตียรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ตามรูปแบบการใช้งาน

1.ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่

  • ยาหยอดตา: สำหรับการอักเสบที่ตา เยื่อบุตาขาวอักเสบ
  • ยาพ่นจมูก: ใช้ควบคุมอาการภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ
  • ยาสูดพ่นทางปาก: ใช้ควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง
  • ยาทาทางผิวหนัง: ใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกัน หรืออาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

2.ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) หวังผลการรักษาที่ให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายทุกระบบ เช่น ยาฉีด และยารับประทาน ส่วนใหญ่ใช้ลดการอักเสบภายใน หรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และ อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง เป็นต้น

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก มีดังนี้

  • ไม่ใช้กับโรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
  • ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา อวัยวะเพศ ข้อพับ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวหนังเปิด เช่น ผิวถลอกหรือมีแผล เนื่องจากจะมีการดูดซึมยาได้มากขึ้น
  • การใช้ยาทาชนิดอื่น ๆ ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน เนื่องจากยาทาบางชนิดจะเพิ่มการดูดซึมของยาได้มากขึ้น เช่น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน และทาเป็นบริเวณกว้าง หากมีความจำเป็นควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ควรเลือกใช้ความแรงต่ำหรือปานกลาง และใช้แค่ระยะเวลาสั้น ๆ   ส่วนหญิงให้นมบุตร ห้ามทายาที่บริเวณเต้านมก่อนให้นม

ปัจจุบัน มีการนำยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาสามารถทุเลาอาการได้ดีและเห็นผลเร็ว แต่ถ้านำมาใช้ไม่ตรงกับโรค อาจทำให้ผลของยาบดบังอาการของโรค และเป็นสาเหตุทำให้โรคลุกลาม จนอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาตามข้อแนะนำข้างต้น และใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร

ประโยชน์ของยาสเตียรอยด์

สเตียรอยด์เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ อันได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย รวมถึงฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ จึงนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อบางชนิด หรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บป่วยน้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดหายไปอย่างรวดเร็ว

แม้มีประโยชน์ในการรักษา แต่หากใช้นานเกินจำเป็น อาจเกิดผลข้างเคียง

โทษของสเตียรอยด์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการใช้ยานานเกินความจำเป็น เช่น ได้รับยาในขนาดสูงเกินไป หรือได้รับยานานเกินไป โดยผลส่วนใหญ่ที่พบจะแบ่งเป็นผลทางผิวหนัง และผลต่อระบบอวัยวะภายในร่างกาย

  • อาการทางผิวหนัง มักเกิดจากการใช้สเตียรอยด์รูปแบบครีม ได้แก่ ผิวหนังซีดบางลง ผิวหนังอักเสบแตกเป็นลาย เกิดสิวสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ผลต่อระบบอวัยวะ เกิดจากกรณียารับประทาน ที่ใช้เป็นเวลานานหรือใช้พร่ำเพรื่อ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อหลายระบบ เช่น อาการบวมน้ำ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรียจากฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกัน เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการสะสมไขมันที่ใบหน้า หลัง และท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

ใช้สเตียรอยด์อย่างไร..ได้ประโยชน์ในการรักษาเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย

ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับทาภายนอกใช้เอง เพื่อการใช้สเตียรอยด์อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ตามปกติแล้วยาสเตียรอยด์ในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน จะสามารถสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันมีการใส่สารสเตียรอยด์ในยาชุดลูกกลอน ที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค ในปริมาณที่สูงกว่าขนาดปกติที่ใช้ในการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้รับประทานยาเกิดผลข้างเคียง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในบางรายได้

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยาสเตรียรอยด์

  • ไม่ควรซื้อยาที่ไม่มีฉลากบ่งชี้ชัดเจน
  • เลี่ยงการรับประทานยาชุดหรือยาลูกกลอน ที่ไม่มีฉลากกำกับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง และห้ามหยุดใช้ยาเองก่อนครบระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากสงสัยว่ามีอาการข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยาทาสเตียรอยด์ทุกครั้ง เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับชนิด ขนาด และวิธีการใช้ยาที่เหมาะสมกับสภาพผิวและโรคของคุณ
  • ทายาให้ทั่วบริเวณที่เป็น และหลีกเลี่ยงการทายาบริเวณใบหน้าหรือรอยพับของผิวหนัง เว้นแต่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ล้างมือให้สะอาด หลังจากทายาเสร็จทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาสเตียรอยด์ร่วมกับยาอื่นๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • สังเกตอาการข้างเคียง หากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเวทธานี
– คลังข้อมูลยา
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี