สังคัง ( Tinea Cruris ) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟต์ โรคนี้จะเจอได้ในที่ที่มีอุณหภูมิร้อนชื้น และพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็ก ที่สำคัญพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงด้วย โดยมากสังคังจะพบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ ต้นขาด้านใน หรือบั้นท้าย และอาจลุกลามไปยังอวัยวะเพศ หรือบริเวณใกล้เคียงได้เช่นกัน
แต่หากว่าเป็นที่ศีรษะจะเรียกว่า ชันนะตุ หากอยู่ที่เท้า หรือ ง่ามนิ้วเท้า จะเรียกว่า ฮ่องกงฟุต แต่เมื่อไหร่ที่ โรคกลาก เกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบเขาเรียกว่าสังคัง
ลักษณะของรอยโรคสังคัง
ลักษณะของโรคผื่นสังคัง คือ ผื่นสีแดง บริเวณขอบผื่นจะชัด มีสะเก็ด หรือขุยร่วมด้วย โดยจะมีลักษณะเป็นแผ่น หรือวงก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดอาการคันมาก
โรคสังคังมักเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบ หัวเหน่า หรือบริเวณรอยพับต่างๆ ของร่างกาย หากไม่ดูแลรักษาให้ดีก็อาจลามไปที่อวัยวะเพศ และทวารหนักได้ แต่ส่วนมากจะไม่ส่งผลกระทบต่อถุงอัณฑะ หรือองคชาติ
ในบางครั้งอาจทำให้ผิวบริเวณนั้นเป็นสีดำคล้ำ หรืออ่อนกว่าปกติ ซึ่งอาจคงอยู่แบบนั้นจนกว่าการติดเชื้อจะบรรเทาลง
สังคัง เกิดจากสาเหตุใด
สังคังสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ สุขอนามัย จากการสัมผัสเชื้อราผ่านพื้นดิน การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์หรือผ่านทางขนของสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อ รวมถึงสภาวะแวดล้อมของผู้ที่ติดเชื้ออย่าง ผิวหนังที่มีการติดเชื้อ ผิวหนังที่มีการเปื่อยยุ่ยจากความอับชื้น โรคผิวหนังที่กิดจากเชื้อราสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในตำแหน่งที่มีเหงื่อออกมาก อับชื้น การระบายถ่ายเทไม่ดี เป็นต้น
อาการของโรคสังคัง
- คันใต้ร่มผ้า มีขอบนูนชัดเจน เป็นรูปวงกลมหรือจันทร์เสี้ยว
- มีผื่นขึ้น คัน แสบร้อนมากขึ้น
- หากปล่อยไว้ อาจมีอาการหนังลอก กลายเป็นวงสีดำ หรือสีน้ำตาล และขยายวงกว้างมากขึ้น
สังคังพบมากในกลุ่มคนประเภทใด
แน่นอนว่าโรคสังคังนี้จะพบได้ในเขตที่มีอุณหภูมิร้อนชื้น ผู้ที่มีเหงื่อมากๆ ตามบริเวณซอกคอ ข้อพับ หัวหน่าว กลุ่มคนรักสัตว์ โดยเฉพาะนักกีฬา หรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน โรคอ้วน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมักที่จะมีภูมิคุ้มกันไม่ดีอยู่แล้ว ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาของโรคนี้ได้ค่อยข้างสูง
โรคสังคังเป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรคสังคัง เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย โดยสามารถติดโรคสังคังได้จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้โดยตรง หรือผ่านการสวมใส่เสื้อผ้า หรือผ้าขนหนูที่ยังไม่ซักของผู้ที่เป็นโรคสังคัง
นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคสังคังมีโอกาสที่จะติดเชื้อที่บริเวณอื่นๆ ในร่างกายด้วย เช่น หากเป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือกลากที่เท้า (Tinea Pedis) หรือโรคกลากที่เล็บมือ หรือเล็บเท้า (Tinea Unguium) แล้วเท้าบริเวณที่เป็นโรคสัมผัสกับขอบกางเกงในระหว่างแต่งตัว ก็อาจทำให้บริเวณที่สวมใส่กางเกงในติดเชื้อและเป็นสังคังตามไปด้วยนั่นเอง
การรักษาโรคสังคัง
โรคสังคัง รวมไปถึงโรคกลากชนิดอื่นๆ สามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ มีทั้งแบบครีมทา โลชั่น หรือแป้ง โดยส่วนมากแล้วมักจำเป็นต้องทาลงบนผิวหนังติดต่อกัน 2 – 4 สัปดาห์
หากไม่แน่ใจว่า ผื่นที่เกิดขึ้นเป็นโรคสังคัง สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยได้ โดยแพทย์สามารถประเมินได้ด้วยสายตา หรือขูดเอาเซลล์เนื้อบริเวณรอยโรคไปส่องกล้องเพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อรานั้นๆ และจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคให้
ตัวยาสำหรับรักษาโรคสังคัง
ยาต้านเชื้อราบางชนิด สามารถรักษาโรคสังคังได้
- miconazole
- naftifine
- clotrimazole
- ketoconazole
- oxiconazole
วิธีป้องกัน สังคัง
การป้องกันเชื้อราสามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขภาพอนามัยพื้นฐาน ตามสุขบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง เพราะการติดเชื้อรามักเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ทางป้องกันที่สามารถทำได้คือ
- รักษาร่างกายไม่ให้มีความเปียกชื้น
- รักษาความสะอาดมือและเท้า ถ้าต้องสัมผัสน้ำสกปรกหรือดิน
- รักษาความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกันกับใคร
- ไม่คลุกคลีกับผู้ที่มีเชื้อรา
- หากมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- หากเป็นโรคสังคัง ควรใช้ยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้องและครบถ้วน ที่สำคัญสุดพบแพทย์ให้ได้ตามนัดเสมอ
วิธีรักษารอยแผลเป็นจากสังคัง
สำหรับคนที่มีความกังวลเรื่องของ รอยแผลเป็น รอยดำ รอยไหม้ที่ผิวหนังที่เกิดจากสังคัง ในระยะระหว่างที่รักษาโรคสังคังแล้ว หายดีแล้วแต่รอยดำ-รอยแผลยังไม่หาย สบายใจได้เลยว่า ในระยะเวลา 3-6 เดือน รอยแผลนั้นจะค่อยๆ หายไปเองโดยไม่ต้องใช้ยาทา แต่หากมีบางส่วนที่ยังเสียดสี หรือน้ำหนักตัวยังมากอยู่ ก็ไม่อาจที่จะกำจัดออกไปได้ จำเป็นจะต้องลดน้ำหนัก รอยนั้นถึงจะหายไปและหายได้เอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บไซต์rattinan
– เว็บไซต์hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM