ยาเลื่อนประจำเดือน ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญ คือ Norethisterone ในขนาด 5 มิลลิกรัม แต่อาจแตกต่างในบางยี่ห้อ ถูกนำมาใช้เพื่อเลื่อนเวลาการมีประจำเดือน โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญ เช่น ใส่ชุดว่ายน้ำไปสระน้ำ ไปเที่ยวทะเล หรือเดินทางไกล ยาประเภทนี้มีผลทำให้เยื่อบุผนังมดลูกไม่หลุดลอกออกมาในช่วงระยะเวลาที่กำลังทานยาอยู่ ซึ่งเป็นทางออกของสาว ๆ ที่ไม่อยากให้การมีประจำเดือนมาเป็นเรื่องกวนใจเพราะหลายครั้งที่ขอเลื่อนแผนเที่ยว ขยับแล้วขยับอีกก็ไม่ลงตัว การหันไป “เลื่อนประจำเดือน” จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า
ยาเลื่อนประจำเดือนทำงานอย่างไร?
ผู้หญิงทุกๆ คนที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีเลือดออกจากช่องคลอดหรือประจำเดือน ในทุกๆ 28-30 วัน โดยหลังจากมีประจำเดือนแล้วกระบวนการในร่างกายจะทำการคัดไข่เตรียมไว้จนไปถึงกลางรอบเดือน สำหรับผู้ที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ 28-30 วัน ประมาณวันที่ 14-15 นับจากการมีประจำเดือนวันแรก จะเป็นวันตกไข่ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) ขึ้นมา ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเพื่อรองรับตัวอ่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สมองจะสั่งให้หยุดสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาก็จะหลุดออกมาเป็นประจำเดือน
ทานยาเลื่อนประจำเดือนตอนเมนส์มาหรือก่อนเมนส์มา 1 วันได้หรือไม่
ด้วยธรรมชาติของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนประจำเดือนจะมา ดังนั้นไม่ควรกินยาเลื่อนประจำเดือนก่อนเมนส์มา 1 วัน หรือกินยาเลื่อนประจำเดือนตอนเมนส์มา เพราะการกินยาก่อนมีประจำเดือนแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือนจะไม่ช่วยเลื่อนประจำเดือนอย่างที่หวังไว้ เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาแล้ว จึงอาจมีผลแค่ช่วยลดปริมาณ และจำนวนวันของการมีประจำเดือนเท่านั้น อีกทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนมาซ้ำได้ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันหลังหยุดยา
ดังนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของยาเลื่อนประจำเดือนตามเป้าประสงค์ ควรกินยาเลื่อนประจำเดือนอย่างน้อย 3 วัน ก่อนประจำเดือนจะมา โดย
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 65 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (หลังอาหารเช้าและเย็น)
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 65 กิโลกรัม ควรรับประทานวันละ 3 ครั้ง (หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น) โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
คำแนะนำเกี่ยวกับการกินยาเลื่อนประจำเดือน
- ใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
- ควรเริ่มกินอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่จะมีประจำเดือน
- การกินยาก่อนมีประจำเดือนแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน อาจมีผลช่วยลดปริมาณ และจำนวนวันของการมีประจำเดือน แต่ประจำเดือนอาจมาซ้ำได้ในช่วงเวลาใกล้ ๆ หลังหยุดยาได้
- การใช้ยานาน ๆ หรือบ่อยมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือไม่มาเลย นอกจากนี้ อาจพบอาการปวดหัวคัดเต้านม คลื่นไส้ เวียนศีรษะได้
- ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิติเวช
– กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM