Warfarin (วาฟาริน) เป็นยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด โดยแพทย์จะใช้ยานี้ในหลาย ๆ จุดประสงค์ เช่น ใช้รักษาหรือป้องกันภาวะเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง รักษาหรือป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยาวาฟารินเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
เกี่ยวกับยา Warfarin
- กลุ่มยา ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
- สรรพคุณ ต้านการแข็งตัวของเลือด
- กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Warfarin
รูปแบบของยา
- ยาเม็ด ยาฉีด
คำเตือนในการใช้ยา Warfarin
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Warfarin ผู้ที่ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีภาวะผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาวาฟาริน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เพิ่งได้รับการผ่าตัดหรือกำลังเข้ารับการผ่าตัด กำลังเข้ารับการเจาะน้ำไขสันหลัง เซลล์เม็ดเลือดมีความผิดปกติ โรคตับ โรคไต ขาดวิตามินเค วัณโรค โรคหัวใจเบาหวาน มีภาวะเลือดออกในร่างกาย มีแผลเลือดออก ต่อมไทรอยด์มีปัญหา และเยื่อบุหัวใจมีภาวะติดเชื้อ
- ผู้ที่กำลังใช้ ยาต้านการแข็งเลือด ชนิดอื่นอยู่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เช่น ยาสเตปโต ไคเนส (Streptokinase) หรือยาอัลทีเพลส (Alteplase)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาวาฟาริน หากไม่สามารถใช้ยาได้ตรงตามเวลาในทุกวัน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- ผู้ที่เพิ่งคลอดบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
- ผู้ที่ใช้ยาวาฟาริน อาจต้องหยุดใช้ยา 5–7 วัน ก่อนจะมีการผ่าตัดใด ๆ หรือเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม
- ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดแผล รวมถึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างที่อาจส่งผลให้มีเลือดออก เช่น โกนหนวดอย่างระมัดระวังแปรงฟัน ให้เบาลง หรือเปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นแบบขนนุ่ม
- ผู้ที่ใช้ยาวาฟารินต้องได้รับการตรวจกลไกการแข็งตัวของเลือดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำแครนเบอร์รีขณะใช้ยานี้
- ในระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรระวังการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินเค โดยให้รับประทานเพียงเล็กน้อยในปริมาณที่พอเหมาะทุกวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถรักษาระดับของยาวาฟารินได้ดี
ปริมาณการใช้ยา Warfarin
ปริมาณการใช้ยา Warfarin จะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้ยา อายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ โดยการใช้ยาจะมีทั้งรูปแบบรับประทานและแบบฉีด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีตัวอย่างการใช้ดังต่อไปนี้
ชนิดรับประทานเพื่อรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน
การใช้ยา Warfarin ชนิดรับประทานเพื่อรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ได้แก่
- ผู้ใหญ่ ในช่วงแรก แพทย์จะให้ผู้ป่วยเริ่มใช้ยาในปริมาณ 2–5 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นจะค่อย ๆ ปรับปริมาณเป็น 2–10 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยูกับดุลยพินิจของแพทย์
- เด็ก ในช่วงแรกแพทย์จะให้ยาในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และจะค่อย ๆ ปรับปริมาณอีกครั้งตามความเหมาะสม
ชนิดฉีดเพื่อรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน
การใช้ยา Warfarin ชนิดฉีดเพื่อรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ได้แก่
- ผู้ใหญ่ ในช่วงแรก แพทย์จะให้ผู้ป่วยเริ่มใช้ยาในปริมาณ 2–5 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นจะค่อย ๆ ปรับปริมาณเป็น 2–10 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุ ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยูกับดุลยพินิจของแพทย์
- เด็ก ในช่วงแรก แพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และจะปรับเป็นประมาณ 0.09–0.33 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ ในการเลือกปริมาณที่เหมาะสม แพทย์อาจจำเป็นต้องดูสุขภาพโดยรวมของเด็กประกอบการตัดสินใจด้วย
การใช้ยา Warfarin
ผู้ที่ใช้ยา Warfarin ในรูปแบบยารับประทานควรรับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อการรักษาที่เห็นผล
ยาชนิดนี้เป็นยาที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร แต่ผู้ป่วยควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งและรับประทานยาในเวลาเดิมของทุก ๆ วัน
หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้ผู้ป่วยรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยารอบถัดไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบ หากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ
ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการวัดเวลาการแข็งตัวของเลือด (Prothrombin Time Test) หรือ INR ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อวัดว่าเลือดใช้เวลาเท่าใดในการแข็งตัว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาปริมาณการใช้ยาให้กับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม
ผู้ที่ใช้ยานี้ควรพกบัตรแจ้งเตือนทางการแพทย์หรือพกบัตรที่ระบุว่ามีการใช้ยาวาฟาริน เพราะแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยานี้อยู่
สำหรับการเก็บรักษายา ผู้ใช้ยาควรเก็บยานี้ไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นมือเด็ก และเก็บให้ห่างจากความร้อน ความชื้นและแสงแดด
ปฏิกิริยาระหว่างยา Warfarin กับยาอื่น
ก่อนใช้ยา Warfarin ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้
- ยาชนิดอื่นในกลุ่มต้านการแข็งเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาทิโคลพิดีน (Ticlopidine) ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาซิลอสทาซอล (Cilostazol)
- ยารักษาโรค เก๊าท์ เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) หรือยาโพรพาฟีโนน (Propafenone)
- ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
- ยาปฎิชีวนะ เช่น ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ยารักษา วัณโรค เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยารักษาโรคชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
- ยาในกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ยาลดระดับ คอเลสเตอรอลในเลือด เช่น ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) หรือยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)
- ยากล่อมประสาท ได้แก่ ยาไซตาโลแพรม (Citalopram) ยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine)
- อาหารเสริมวิตามินเค
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เซนต์จอห์นเวิร์ด(St. John’s Wort)
ทั้งนี้ ตัวอย่างยาในข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ และยารักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ อยู่ ผู้ป่วยก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Warfarin
ยา Warfarin อาจส่งผลให้ผู้ที่ใช้พบผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น ผื่นขึ้น ท้องเสีย ผมร่วง คลื่นไส้ ท้องอืด การรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลง อาเจียน และมีไข้ขึ้น ซึ่งผู้ที่พบอาการควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ใช้ยานี้ หากผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุใด ๆ บริเวณศีรษะหรือหลัง มีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือพบอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
- อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม
- มีเลือดออกมากผิดปกติ มีเลือดออกตามเหงือก หรือมี เลือดกำเดาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเลือดไหลไม่หยุด
- พบรอยช้ำ ตามร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อรอยช้ำเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือรอยช้ำมีขนาดใหญ่
- ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนมามาก ผิดปกติ หรือมีสิ่งผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับประจำเดือน
- สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
- อุจจาระมีสีดำและเหนียว
- ปัสสาวะมีสีคล้ำหรือมีเลือดปน
- ไอหรือเสมหะปนเลือด หรือมีสีดำ
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกสับสนร่วมด้วย
- อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย
- เจ็บหน้าอก
- หายใจไม่ออก
- ปวดท้อง ท้องบวม
- เจ็บขาหรือเท้า มีแผลที่เท้า นิ้วเท้าหรือนิ้วมือเป็นสีม่วง
- ผิวหนังและดวงตามีสีออกเหลือง ร่วมกับอาการปวดท้อง
- ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะไม่ออก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– โรงพยาบาลธนบุรี
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM