โควิดล่าสุดที่ระบาดอยู่ในไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์ XBB.1.9.2 เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีแนวโน้มจะมีโควิดสายพันธุ์ EG.5 และสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือที่มีชื่อว่าโควิดสายพันธุ์อาร์คตูรุส (Arcturus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ของโอมิครอน ระบาดเพิ่มขึ้น และอาจเป็นสายพันธุ์ที่เบียดแซงสายพันธุ์ย่อยเดิม ๆ ขึ้นมาในระยะใกล้ ๆ นี้
ส่วนโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ลือ ๆ กันก็คือ JN.1 ที่จริง ๆ แล้วก็ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนอย่าง BA.2.86 อีกที ดังนั้นก็ยังไม่ใช่โควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างที่กังวลกัน แต่อย่าชะล่าใจไป สายพันธ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง เพราะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ หลายเท่า อีกทั้งสามารถติดเชื้อซ้ำได้ โดยล่าสุดก็พบผู้ป่วยติดโควิดสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่วนในไทยก็พบการติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้วเช่นกัน
โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าตั้งแต่ช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2566 การติดเชื้อรายใหม่ และภาพรวมของผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น 52% และมีการประกาศให้เฝ้าระวัง omicron JN.1 เพราะพบการระบาดของสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบเชื้อ JN.1 ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเสียเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่าอาจจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแหล่งน้ำร่วมด้วย นอกเหนือจากการติดจากสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การระบาดเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง พ.ย. 66 ต่อเนื่องมาต้นปี 67 เป็นสายพันธุ์ JN.1 หรือไม่ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดช่วง ธ.ค. 66 สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดคือ XBB แต่มีแนวโน้มที่ JN.1 จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย
เกาะติดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ 7-13 ม.ค. 2567
- ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 625 ราย
- ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) 7 ราย
- ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 625 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
- ผู้เสียชีวิต สะสม 7 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
อาการโควิดล่าสุด 2567
อาการโควิดล่าสุดยังมีความรุนแรงไม่มาก โดยเฉพาะในคนที่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัด เช่น
- ไอแห้ง
- เจ็บคอ
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- มีน้ำมูก
- มีเสมหะ
- ปวดเมื่อยร่างกาย
- ตาแดง (บางราย)
- ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส (บางราย)
- ท้องเสีย (บางราย)
- อ่อนเพลีย (บางราย)
- เหนื่อยหอบ (บางราย)
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว (บางราย)
- กลืนลำบาก (บางราย)
โควิด19 กี่วันหาย
ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องจำนวนเชื้อและสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค
หากอ้างอิงจากการแพร่เชื้อจะพบว่า เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อและแยกตัว 5 วันไปแล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้อยู่ที่ 50% แต่ถ้าผ่าน 7 วันไปแล้ว โอกาสแพร่เชื้อจะลดลงเหลือ 25% และถ้าผ่านไป 10 วัน โอกาสแพร่เชื้อจะเหลือเพียง 10% แต่ปลอดภัยที่สุดคือ 14 วันไปแล้วที่จะไม่แพร่เชื้ออีก
ดังนั้น การกักตัวอย่างน้อย 5 วันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขสามารถลดโอกาสแพร่เชื้อได้ หรือถ้าเป็นไปได้ควรกักตัวสัก 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการป่วย และตรวจ ATK แล้วเป็นลบ จึงกลับออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจหลงเหลืออาการอยู่เล็กน้อย เช่น หายโควิดแต่ยังไอ นั่นเป็นเพียงการอักเสบของอวัยวะที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในภายหลัง
ทั้งนี้ การติดโควิด 19 ในปัจจุบันก็ยังพบผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยมีปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 เช่นกัน ดังนั้นมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลนวเวช
– prachachat.net
– Kapook.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM