ขาหนีบดำเป็นปัญหาหนึ่งที่อาจทำให้หลายคนกังวลและไม่มั่นใจ ซึ่งอาจเกิดจากการมีน้ำหนักตัวมาก การออกกำลังกาย หรือการใช้ยาบางชนิด หลายคนจึงพยายามใช้ครีมหรือแม้แต่บริโภคอาหารเสริมที่กล่าวอ้างถึงการปรับสีผิว เพราะเชื่อว่าอาจทำให้รอยคล้ำบริเวณดังกล่าวจางลงได้ ซึ่งในความเป็นจริง ขาหนีบดำอาจรักษาและป้องกันได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ และรอยคล้ำอาจจางหายไปเองได้ตามธรรมชาติในบางกรณีอีกด้วย
ขาหนีบดำ เกิดจากอะไร
ขาหนีบดำอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การเสียดสี
ขาหนีบทั้ง 2 ข้างอาจเสียดสีกับกางเกง อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ออกกำลังกายหรือมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งการเสียดสีเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นรอยคล้ำ และอาจเกิดผื่นแดงขึ้น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจมีอาการบวม เลือดออก หรือเป็นแผลถลอกได้ - การตั้งครรภ์
ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างที่ตั้งครรภ์ จนทำให้เม็ดสีบริเวณต่าง ๆ ดำคล้ำขึ้นได้ เช่น หัวนม ริมฝีปาก และขาหนีบด้วย ซึ่งรอยคล้ำดังกล่าวอาจมีสีเข้มขึ้นได้หากผิวบริเวณนั้นสัมผัสกับแดด - โรคผิวหนังช้าง
อาจเกิดจากการมีสารอินซูลินในร่างกายมากเกินไป ทำให้เม็ดสีเพิ่มปริมาณขึ้นจนดำคล้ำ และมีผิวหนังลักษณะแข็งคล้ำเกิดขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ เช่น มือ ริมฝีปาก ต้นคอ และขาหนีบ มักพบในผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร และความผิดปกติของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง เป็นต้น ซึ่งโรคผิวหนังช้างอาจเป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานอีกด้วย - การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาไทรอยด์ โกรทฮอร์โมน หรืออาหารเสริมสำหรับนักเพาะกาย ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้ระดับอินซูลินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อเม็ดสีของผิวหนัง ทำให้ขาหนีบดำคล้ำขึ้นได้
ขาหนีบดำ รักษาอย่างไร
การรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ขาหนีบดำ เช่น
- ลดการเสียดสี หากสาเหตุของขาหนีบดำเกิดจากการเสียดสี อาจบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการซับบริเวณขาหนีบให้แห้ง แล้วทาปิโตรเลียมเจล โลชั่น บาล์ม และออยล์ที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้บริเวณดังกล่าว รวมถึงหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียดสี เช่น ระมัดระวังในขณะออกกำลังกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้และสบายตัว
- หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือปรากฏอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บปวดมาก ผิวบวม มีเลือดออก หรือมีรอยถลอก ควรไปพบแพทย์ เพราะการเสียดสีอาจทำให้ขาหนีบติดเชื้อได้ ซึ่งอาจต้องทาขี้ผึ้งต้านแบคทีเรียบนบริเวณดังกล่าว และรับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ต่อไป
- ลดน้ำหนัก หากสาเหตุของขาหนีบดำ คือ มีน้ำหนักตัวมากเกินไป แพทย์อาจแนะนำให้ลดและควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย
- ควบคุมระดับอินซูลิน หากขาหนีบดำจากการมีสารอินซูลินในร่างกายสูง แพทย์อาจรักษาโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
- ปรับเปลี่ยนยารักษา หากขาหนีบดำจากการใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด แพทย์อาจสั่งงดยาดังกล่าว หรือสั่งจ่ายยาชนิดอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม หากขาหนีบดำเกิดจากการตั้งครรภ์ รอยคล้ำอาจจางหายไปเองหลังจากคลอดบุตรแล้วประมาณ 3 เดือน
นอกจากนี้ อาจรักษาขาหนีบดำได้ด้วยวิธีการรักษาแบบเสริมความงามดังต่อไปนี้
- ใช้ยารักษาสิวชนิดรับประทาน
- ใช้สบู่ป้องกันแบคทีเรีย
- ใช้สารปรับผิวขาว เช่น สารยูเรีย 20 เปอร์เซ็นต์ กรดจากผลไม้(AHA) และกรดซาลิไซลิก
- ทำเลเซอร์
วิธีรักษา
แบบเสริมความงามดังข้างต้นอาจช่วยให้รอยคล้ำจางลงเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาโรคหรือภาวะที่ก่อให้เกิดขาหนีบดำได้แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาขาหนีบดำที่ต้องการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาขาหนีบดำอย่างเหมาะสมและได้ผลมากที่สุด
ขาหนีบดำ ป้องกันอย่างไร
ปัญหาขาหนีบดำอาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกหรือชุ่มเหงื่อ
- ทาแป้งเพื่อดูดซับความชุ่มชื้นบริเวณขาหนีบ
- ทาปิโตรเลียมเจล หรือผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันบริเวณขาหนีบ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการเสียดสี
- สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ หรือเสื้อผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ โดยหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าฝ้าย สวมกางเกงซ้อนข้างในหากต้องใส่กระโปรงเพื่อป้องกันการเสียดสีของเนื้อบริเวณขาหนีบ และควรสวมใส่ชุดออกกำลังกายโดยเฉพาะหากต้องออกกำลังกาย
- ใช้ผ้าพันแผลแบบเนื้อนุ่มวางปิดบริเวณขาหนีบ เพื่อซับเหงื่อและป้องกันการเสียดสี
- ดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เช่น ควบคุมน้ำหนัก เลือกรับประทานอาหารอาหารที่มีประโยชน์ และปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยารักษาที่ใช้อยู่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM