ตอนเด็กโดนเขย่าแรง โตมาเลยโง่ เป็นได้จริงหรือ Shaken Baby Syndrome

“โรคทารกถูกเขย่า” หรือ Shaken Baby Syndrome (SBS) คือภาวะสมองบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่เกิดจากการเขย่าทารกหรือเด็กเล็กอย่างแรง ซึ่งอาจดูเหมือนไม่รุนแรงจากภายนอก แต่ผลกระทบภายในกลับอันตรายถึงชีวิต หรือทิ้งความพิการถาวรเอาไว้ได้

ทำไมแค่เขย่าถึงอันตราย?

สมองของทารกยังไม่เจริญเต็มที่ และกะโหลกยังบาง เนื้อสมองจึงอ่อนไหวมาก เมื่อทารกถูกเขย่า สมองจะกระแทกไปมากับกะโหลก ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เส้นเลือดฝอยแตก หรือบวมจนกดทับสมองส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงศีรษะได้ดี

พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อ SBS

แม้เจตนาอาจไม่ได้มุ่งร้าย แต่พฤติกรรมต่อไปนี้ก็มีโอกาสทำให้เกิด SBS

  • เขย่าทารกแรง ๆ เพื่อให้หยุดร้องไห้
  • เขย่าตอนเล่น โดยเฉพาะการ “โยน” ขึ้นลง
  • การอุ้มเด็กแล้วแกว่งแรง ๆ
  • การเคลื่อนย้ายทารกขณะโกรธหรือเครียด

อาการที่น่าสงสัย

บางครั้งอาการอาจไม่ได้แสดงทันที แต่มีสัญญาณที่ควรระวัง เช่น:

  • อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ง่วงซึมหรือหลับนานผิดปกติ
  • ชัก หายใจติดขัด
  • ดวงตากลอก หรือมองไม่ตรง
  • บาดแผลที่ศีรษะหรือหน้าโดยไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร

หากสงสัยว่าทารกอาจได้รับบาดเจ็บ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

คำถามที่พบบ่อย เช่นต้องเขย่ากี่ครั้งถึงจะเป็นอันตราย?”

แพทย์ตอบว่า ไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน เพราะผลกระทบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความรุนแรงของการเขย่า และความเปราะบางของเด็กแต่ละคน บางกรณีเพียงแค่เขย่าเพียงครั้งเดียวก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก

เรียนรู้วิธีการอุ้มและการปลอบประโลมเด็กที่ถูกต้อง การร้องไห้ของเด็กทารกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หิว ร้อน หนาว หรือปวดท้อง หากรู้สึกเครียด ควรตั้งสติและหาผู้ช่วยดูแลเด็กชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ

หากท่านมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องการปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ยาอย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือใช้บริการให้คำปรึกษา ช่องทางออนไลน์ได้ทุกช่องทางของเรานะคะ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– -นพ.ประวีณ ธาดาดลทิพย์ แพทย์กรรมประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
– โรงพยาบาลรามคําแหง
– ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์และราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็ก
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี