ยา Alfuzosin (อัลฟูโซซิน) – ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง 

อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) เป็นยาประเภท แอลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha blockers) เป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาอาการที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไหลช้า ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะไม่สุด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะที่ติดกับต่อมลูกหมาก อาการต่อมลูกหมากโต มักพบในกลุ่มผู้ชายที่เริ่มมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการกดทับท่อทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ตัวยาอัลฟูโซซินจะออกฤทธิ์ในบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมากและของกระเพาะปัสสาวะเกิดการคลายตัว ทำให้ปัสสาวะไหลได้สะดวกมากขึ้น

ข้อบ่งใช้

  • เพื่อรักษาอาการต่อมลูกหมากโต

กลไกการออกฤทธิ์
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอัลฟูโซซินคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor)ของต่อมลูกหมากที่มีชื่อว่า Postsynaptic alpha 1 adrenoreceptor ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากคลายตัว ลดการกดทับท่อทางเดินปัสสาวะทำให้การถ่ายปัสสาวะทำได้สะดวกขึ้น และก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ยาอัลฟูโซซินมีรูปแบบ

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ปริมาณการใช้ยา
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Alfuzosin จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Alfuzosin เพื่อรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ใหญ่ คือ ให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และการใช้ยา Alfuzosin ในผู้สูงอายุ ในช่วงแรกให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ในกรณีที่เป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน (Extend–release) ให้รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากใช้ยานี้ครั้งแรกควรรับประทานในช่วงก่อนเข้านอน และปริมาณการรับประทานยาสูงสุดไม่ควรเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Alfuzosin
การรับประทานยา Alfuzosin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง เสียดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบ หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการที่รุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น

  • มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
  • เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
  • เจ็บหน้าอกโดยไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาการเจ็บหน้าอกมีความรุนแรงขึ้น
  • ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ปวดท้องร่วมกับปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ
  • ตัวหรือตาเหลือง
  • อุจจาระมีสีดำ
  • อวัยวะเพศชายแข็งตัวผิดปกติหรือนานเกิน 4 ชั่วโมง

การเก็บรักษา

  1. เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  2. ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  3. เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  4. เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  5. ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– haamor.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี