ฝีคัณฑสูตร โรคติดเชื้อเรื้อรังในทวารหนักเป็นแล้วทรมาน

ฝีคัณฑสูตรไม่ใช่ริดสีดวงมีหนองอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ และหลายคนอาจไม่คุ้นหูกับโรคนี้ ทั้งที่ทุกคนสามารถเป็นได้ เพราะฝีคัณฑสูตรเป็นการติดเชื้อบริเวณแก้มก้นเชื่อมต่อกับทวารหนักจนเกิดการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง อาจมีเลือดออกทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นริดสีดวงและรักษาไม่ถูกวิธี การรู้เท่าทันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเป็นฝีคัณฑสูตรแล้วควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกวิธี และรวดเร็วก่อนจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น

ฝีคัณฑสูตรคืออะไร

ฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) เป็นฝีที่เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังบริเวณรูทวารหนัก มีลักษณะเป็นรูเปิดด้านนอก และมีโพรงเชื่อมระหว่างรูเปิดด้านนอกและรูเปิดด้านใน เกิดขึ้นได้ที่รอบรูทวารหนักและแก้มก้น มีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดง และมีหนองร่วมด้วย แบ่งได้ เป็น 2 ชนิด ได้แก่

1.ฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้นหรือไม่ซับซ้อน (Simple Fistula)คือ ฝีคัณฑสูตรที่อยู่ค่อนข้างตื้น แทรกตัวผ่านกล้ามเนื้อหูรูดเพียงนิดเดียว ให้การรักษาได้ง่ายไม่ซับซ้อน

2.ฝีคัณฑสูตรชนิดที่ลึกหรือมีความซับซ้อน (Complex Fistula) คือ ฝีคัณฑสูตรที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น มีรูเปิดอยู่ค่อนข้างลึก หรือมีโพรงของรูเปิดที่อยู่ด้านในและด้านนอกเชื่อมต่อกันเป็นเส้นโค้งหรือโค้งอ้อมรอบก้นค่อยมาเปิดด้านนอก หรือมีรูเปิดด้านในเพียงรูเดียวแต่เชื่อมต่อมาเปิดเป็นรูเปิดด้านนอกหลายรู ทำให้มีความยากและซับซ้อนในการรักษามากยิ่งขึ้น

สาเหตุฝีคัณฑสูตร

ฝีคัณฑสูตรเกิดจากการอักเสบ อุดตัน และการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมผลิตเมือก (Anal Gland) ที่อาจได้รับมาจากทางลำไส้ เข้ามาทางรูเปิดด้านในของทวารหนัก พออักเสบและอุดตันมากๆ ก็เกิดเป็นหนองด้านใน เมื่อหนองมีปริมาณมากขึ้นก็จะค่อยๆ เซาะไปตามชั้นกล้ามเนื้อจนกลายเป็นโพรงเชื่อมต่อกันระหว่างทวารหนักกับผิวหนังด้านนอก จนแตกออกมาทางด้านนอกและกลายเป็นฝีคัณฑสูตรในที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Crohn’s Disease
  • การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น Actinomycosis, Syphillis
  • การติดเชื้อวัณโรค หรือ Chlamydia
  • โรคมะเร็งทวารหนัก หรือโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดบริเวณรอบปากทวารหนัก

อาการของโรคฝีคัณฑสูตร

  • มีอาการอักเสบบวมแดงและคันบริเวณรอบทวารหนัก
  • มีน้ำเหลือง/หนอง หรืออาจมีเลือดซึมออกมาจากทวารหนัก
  • มีอาการเจ็บ/ปวดบริเวณทวารหนัก
  • มีรูหรือเนื้อแข็งๆ บริเวณรอบทวารหนัก
  • มีไข้

รักษาฝีคัณฑสูตร

วิธีการรักษาโรคฝีคัณฑสูตรสามารถแบ่งได้ดังนี้

1.การรักษาฝีบริเวณทวารหนัก (Anal Abscess) คือ การผ่าฝีเพื่อระบายหนองออก อาจร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ รวมถึงแนะนำวิธีการดูแลความสะอาดบริเวณทวารหนัก ฝีที่ระบายหนองออกแล้วมีโอกาสกลายเป็นฝีคัณฑสูตรได้ประมาณ 50%

2.การรักษาฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) ในผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนแล้ว การรักษาจะทำโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ ดังนี้

  • LIFT Procedure (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก โดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะทำการผ่าตัดเข้าไประหว่างชั้นของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเพื่อคล้องเอาทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) จากนั้นทำการตัดและเย็บซ่อมทางเชื่อมดังกล่าว เป็นเทคนิคการรักษาที่ช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย นอกจากผู้ป่วยจะหายจากอาการผิดปกติแล้ว ยังไม่พบปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด
  • Fistulotomy ใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าเพื่อเปิดทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ตลอดแนว แล้วทำความสะอาดแผล จากนั้นจะเปิดแผลไว้ โดยปกติแผลจะหายภายใน 4 – 6 สัปดาห์
  • Seton วิธีนี้เหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน (Complex Fistula) โดยใช้เชือก (Seton) คล้องทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ไว้
  • Fistulectomy คือ การตัดเอาส่วนของทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ออกทั้งหมด ภายหลังการผ่าตัดอาจพบปัญหาการกลั้นอุจจาระได้

ทั้งนี้หากผู้ป่วยฝีคัณฑสูตรมีภาวะฝีบริเวณทวารหนักกำเริบขึ้น จำเป็นต้องรักษาฝีดังกล่าวให้หายก่อนโดยวิธีผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก เมื่อฝีหายดีแล้วจึงสามารถผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีคัณฑสูตรแต่ละวิธีอาจสัมพันธ์กับภาวะการกลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์มากน้อยต่างกัน แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นจะต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจทำการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือเกิดฝีคัณฑสูตรขึ้นใหม่ได้โดยขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดนั้นๆ

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคฝีคัณฑสูตร

โรคฝีคัณฑสูตร สามารถป้องกันได้ หากดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูงส่งเสริมการขับถ่าย ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการฝึกขับถ่ายเพื่อเลี่ยงอาการท้องผูก และดูแลสุขอนามัยหลังการขับถ่ายอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว จะต้องควรคุมเบาหวานให้ดี


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลเวชธานี
– โรงพยาบาลสมิติเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี