โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ โดยเกิดการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง หรือน้ำหนักตัวลดลง นอกจากนั้น การอักเสบสามารถเกิดขึ้นกับส่วนใดของระบบทางเดินอาหารก็ได้ เป็นโรคที่พบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ส่วนมากมักพบที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย
สาเหตุของโรคโครห์น
- สิ่งแวดล้อม ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคโครห์นได้มากกว่า ผู้อาศัยในชุมชนชนบท
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ เมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค จากการตอบสนองที่ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร และเกิดโรคโครห์นในที่สุด
- กรรมพันธุ์ หากบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคโครห์น จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรม 20 %
- ผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อในช่วงวัยเด็ก จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ และเกิดโรคโครห์นในที่สุด
- การใช้ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน และยาไดโคลฟีแนค ส่งผลให้เกิดอาการลำไส้อักเสบได้
- อาหาร ผู้ที่รับประทานอาหารประเภทไขมันสูง และอาหารประเภทขัดสี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคโครห์นได้
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคโครห์นได้มากกว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า อีกทั้งผู้ป่วยโรค โครห์น และมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความรุนแรงของอาการโรคโครห์น
อาการของโรคโครห์น
อาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบขึ้นที่ใด โดยอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- ท้องเสีย
- มีไข้
- ปวดท้อง และบีบเกร็งที่ท้อง ซึ่งมักจะมีอาการแย่ลงหลังจากรับประทานอาหาร
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลง
- ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมูก
บางรายจะพบว่าไม่แสดงอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระยะโรคสงบ แต่หลังจากนั้นอาจเกิดอาการกำเริบที่รุนแรงตามมาได้ โดยอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ฝีคัณฑสูตร ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บและมีหนองบริเวณใกล้รูทวาร
- เกิดแผลร้อนในหรือแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถเกิดได้ตั้งแต่ในปากไปจนถึงทวารหนัก
- เกิดการอักเสบของผิวหนัง ดวงตา และข้อต่อ
- เกิดการอักเสบของตับหรือถุงน้ำดี
- หากเกิดกับเด็ก อาจทำให้มีการเจริญเติบโตช้า หรือมีการพัฒนาทางเพศช้า
- ซีดจากภาวะโลหิตจาง
หากพบว่ามีอาการข้างต้น หรือพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติของลำไส้อย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที จะช่วยให้เริ่มต้นการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และยังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
การวินิจฉัยโรคโครห์น
- การส่งตรวจตัวอย่างเลือด และการส่งตรวจตัวอย่างอุจจาระ สามารถบ่งบอกการอักเสบที่เกิดขึ้นในอวัยวะร่างกาย และบ่งบอกชนิดของเชื้อโรคที่ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อ
- การส่องกล้องตรวจดูลำไส้ (Colonoscopy) เป็นการตรวจดูลำไส้ใหญ่ ทางช่องทวารหนัก ด้วยกล้องส่องภายใน
- แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การเอกซเรย์ที่สามารถเห็นภาพของลำไส้ทั้งหมด รวมทั้งเนื้อเยื่อต่างๆนอกลำไส้
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สแกนภาพอวัยวะภายใน รวมทั้งเนื้อเยื่อภายในอวัยวะ ส่งผลให้เกิดความแม่นยำในการวินิจฉัยลำไส้เล็ก
- การส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) การใช้ท่อที่มีไฟขนาดเล็ก และยืดหยุ่น ในการตรวจดูลำไส้ส่วนปลาย
การรักษาโรคโครห์น
การรักษาด้วยยา
ยาบรรเทาอาการโรคโครห์น
- ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน
- ยาแก้ท้องเสีย เช่น ไซเลียม พาวเดอร์ และเมธิลเซลูโลส หากมีอาการรุนแรงมากจะใช้ยาโลเพอราไมด์
ยาปฏิชีวนะ
- ยาไซโปรฟลอกซาซิน ช่วยให้อาการของโรคโครห์นดีขึ้น อาจส่งผลข้างเคียง เช่น เหน็บ ชา ที่บริเวณมือ และเท้า เป็นต้น
- เมโทรนิดาโซล หากใช้ร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจส่งผลให้เส้นเอ็นฉีก
ยาต้านการอักเสบ
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย อาจส่งผลข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ หน้าบวม เป็นต้น
- ยากลุ่มอะมิโนซาลิไซเลต ได้แก่ ยาซัลฟาซาลาซีน และยาเมซาลาซีน อาจส่งผลข้างเคียง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
ยากดภูมิคุ้มกัน
- ยาอะซาไธโอพรีนและเมอร์เเคปโตพิวรีน เป็นยาที่การรักษาโรคลำไส้อักเสบ
- ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ได้แก่ ยาอินฟลิซิแมบ อะดาลิมูแมบ และเซอร์โทลิซูแมบ เป็นยาที่การรักษาโรคโครห์น ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก
โภชนาการบำบัด
- เป็นการรับสารอาหารทางท่อให้อาหาร และ ทางหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ได้หยุดพักการทำงาน และลดการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ
การผ่าตัด
- การผ่าตัดโดยการนำส่วนที่เสียหายออกจากร่างกาย และเชื่อมต่อกับส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหาย ผลจากการผ่าตัดรักษามักจะอยู่ได้เพียงชั่วคราว โรคโครห์นมักจะกลับมาเป็นซ้ำ ในบริเวณที่ผ่าตัด จะต้องทำการรักษาเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโรคโครห์นซ้ำอีก
ภาวะแทรกซ้อนของโรคโครห์น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคโครห์นที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้
- การอักเสบ อาจเกิดขึ้นที่ผนังลำไส้ ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นและเกิดการตีบแคบของลำไส้ หรืออาจแพร่กระจายผ่านผนังของลำไส้ออกไป
- แผลร้อนใน การอักเสบเรื้อรังสามารถทำให้เกิดแผลร้อนในได้ทุกที่ในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก
- ลำไส้อุดตัน เนื่องจากโรคโครห์นอาจมีผลต่อความหนาของผนังลำไส้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปลำไส้อาจหนาและตีบแคบจนอาจทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด
- แผลปริขอบทวารหนัก เป็นการฉีกขาดขนาดเล็กที่เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักหรือผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจเกิดการติดเชื้อ นอกจากนั้น มักเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดฝีคัณฑสูตบริเวณทวารหนักได้
- ฝีคัณฑสูตร ผู้ป่วยที่เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร เนื่องมาจากการอักเสบ อาจทำให้เกิดแผลร้อนใน และเมื่อเวลาผ่านไปแผลร้อนในดังกล่าวก็สามารถเกิดเป็นช่องหรือรูผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะเพศหญิง ทวารหนัก หรือผิวหนัง ซึ่งทางผ่านนี้เรียกว่า แผลชอนทะลุ หรือฝีคัณฑสูตร
- ภาวะขาดสารอาหาร อาการที่เกิดจากโรค เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง และท้องเกร็ง อาจสร้างความลำบากในการรับประทานอาหาร หรือทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้เพียงพอ โดยโรคโครห์นมักทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็กและวิตามินบี 12
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงควรไปตามแพทย์นัดเพื่อติดตามการรักษา
- ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โรคโครห์นสามารทำให้เกิดปัญหากับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรืออาจทำให้เกิดโรคหรือภาวะ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะโลหิตจาง หรือโรคตับ เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากการใช้ยา ยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคโครห์นบางชนิด ที่ทำงานโดยการกดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ นอกจากนั้น ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรค เช่น โรคกระดูกพรุน ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะของแพทย์ และปรึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยา
การป้องกันโรคโครห์น
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ ลดการรับประทานไขมันสูง เช่น อาหารที่ทำด้วยวิธีการทอด เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก และผลไม้สด
- ไม่ควรดื่มนมเยอะ หรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมเยอะจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และอาหารรสชาติจัด
- ดื่มน้ำปริมาณมากๆ และหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาปฏิชีวนะ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
โรคโครห์นยังเป็นโรคที่ยังหาสาเหตุในการเกิดโรคยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การรักษายังไม่มีวิธีใดรักษาโรคโครห์นให้หายขาดได้ จึงเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด เพื่อให้อาการดีขึ้นใน ระยะยาว ดังนั้นควรจะดูแลสุขภาพร่างกาย หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโครห์นได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเพชรเวช
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM