อาการแบบนี้ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

การติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ซึ่งการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่กระจายผ่านการไอ จาม จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสวัตถุ รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ แต่การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก็มีลักษณะที่แตกต่างกันหลายประการ
โรคไข้หวัด อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่เราทุกคนคงคุ้นเคยกันดี ซึ่งโดยปกติมักจะระบาดในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันเราพบว่า โรคไข้หวัด สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปีเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งอาการของโรคไข้หวัดนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความแข็งแรงของร่างกาย และสาเหตุของโรค เพราะโรคไข้หวัดสามารถเกิดจากทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย แล้วเราจะทราบได้อย่างงไรล่ะว่า … เราเป็นหวัดจากไวรัสหรือแบคเรียกันแน่

ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส กับ แบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างไร
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักไม่ไปพบแพทย์และซื้อยามาทานเองเมื่อเป็นไข้หวัด โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดต้องทานยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบทุกครั้ง แต่จริง ๆ แล้วนั้น โรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสกับโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการแตกต่างกัน สามารถสังเกตุด้วยตนเองได้ และควรรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม การทานยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้อักเสบโดยไม่จำเป็นและทานไม่ครบจำนวนนั้น อาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของยาปฏิชีวนะและส่งผลเกิดอาการเชื้อดื้อยา หรือพูดอีกอย่างนึงก็คือว่า ทานยาเท่าไหร่โรคก็ไม่หายนั่นเอง

อาการของคนเป็นไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส
ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส หรือไข้หวัดธรรมดา (Common cold) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ต่ำๆ หรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงทางจมูกและทางเดินหายใจ ดังนี้

  • มีน้ำมูกใสๆ (บางครั้งช่วงเช้าอาจมีสีเหลืองข้น)
  • มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก
  • ไอ จาม
  • เจ็บคอ คอแดง
  • ต่อมทอลซินบวมแต่ไม่มีตุ่มหนองอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นข้างต้น

เนื่องจากโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทานยาปฏิชีวนะ อาจใช้เวลา 5-7 วัน เพียงแค่ดูแลตนเองและปฏิบัติดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำร่างกายให้อบอุ่น
  • ดื่มน้ำมาก ๆ
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา
  • ไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย

ไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการเหมือนกับไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสทุกประการ เพียงแต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้ ดังนี้

  • ต่อมทอนซิลบวม หรือมีจุดหนอง
  • ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
  • ไม่มีอาการไอ
  • มักจะมีอาการป่วยเรื้อรังนานกว่า 5-10 วัน
  • มีไข้ตัวร้อนสูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
  • มีอาการเจ็บคอมาก

ถ้าหากเป็นแบบหวัดเรื้อรังอาจมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูกและไซนัส สังเกตได้ ดังนี้

  • มีน้ำมูกสีเขียวข้นปนสีเหลือง
  • มีอาการปวดบริเวณจมูกและตึงบนใบหน้า
  • มีอาการคัดแน่นจมูก
  • ความสามารถในการรับกลิ่นแย่ลง
  • ขณะเดียวกันก็อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอร่วมกับการอักเสบบริเวณต่อมทอนซิลด้วย

ดังนั้นถ้าอยากทราบว่า ผู้ป่วย หรือตัวคุณเป็นไข้หวัดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยหรือไม่ สามารถตรวจเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีดังนี้

  • อ้าปากแล้วใช้ไฟฉายส่อง หรือมองผ่านกระจก เพื่อตรวจดูว่า ต่อมทอนซิลที่อยู่ข้างบริเวณข้างลำคอมีจุดขาว หรือจุดหนองหรือไม่
  • หากพบว่า มีลักษณะดังกล่าว แสดงว่า เป็นไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีวิธีที่น่าสนใจอีก ดังนี้
  • ลองจับบริเวณใต้กรามทั้งสองข้างของใบหน้าว่า มีการบวมของต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ โดยใช้วิธีกดลงไป หากมีอาการเจ็บ และ/หรือ สัมผัสได้ว่า มีอาการบวมก็แสดงว่า น่าจะติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว

วิธีรักษาการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ทั้งการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการในระหว่างที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังกำจัดเชื้อโรค หรืออาจใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ยาเนวิราปีน ยาอะบาคาเวียร์ ยาอะทาซานาเวียร์ หรือยาอินดินาเวียร์ เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคเอดส์ อีกทั้งยังสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย
ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติแล้วจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มหลัก เช่น ยาเพนิซิลลิน ยาเซฟาโลสปอริน ยาแมคโครไลด์ ยาฟลูออโรควิโนโลน ยาซัลโฟนาไมด์ ยาเตตราไซคลีน ยาอะมิโนไกลโคไซด์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เกิดการติดเชื้อและเชื้อแพร่กระจายได้ง่าย หรืออาจไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้น ๆ ได้ในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสุขุมวิท
– pobpad.com
– hdmall.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี