โรคปลายประสาทอักเสบเกิดจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชาหรือเสียวแปลบบริเวณมือหรือเท้า และอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย โรคปลายประสาทอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งโรคปลายประสาทอักเสบอาจพบในผู้ป่วยเบาหวานได้มากกว่า 50% เลยทีเดียว นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือผู้ที่ทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบเช่นเดียวกัน
อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ
เส้นประสาทส่วนปลายมีหน้าที่เฉพาะ ดังนั้นอาการจะขึ้นอยู่กับประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
- เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเจ็บปวด การสั่นสะเทือน หรือการสัมผัส
- เส้นประสาทสั่งการ (Motor nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
- เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ความดันโลหิต การขับเหงื่อ อัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคที่สามารถสังเกตได้ ดังต่อไปนี้
- เกิดอาการชาหรือเสียวแปลบคล้ายโดนเข็มทิ่มบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า
- อาการชา เสียวแปลบ หรือปวดแสบปวดร้อนอาจลามขึ้นมาบริเวณแขนหรือขา
- เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณเท้า
- สูญเสียความสมดุลของร่างกาย หรือเสียการทรงตัว
- เกิดความเจ็บปวดเมื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดเท้าเมื่อลงน้ำหนัก ปวดข้อมือเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไวต่อการสัมผัสมาก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- รู้สึกเหมือนสวมถุงมือหรือถุงเท้าทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สวม
- เป็นอัมพาตหากเส้นประสาทสั่งการ ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
- แพ้ความร้อน
- เหงื่อออกมาก หรือไม่สามารถขับเหงื่อได้
- มีปัญหาลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบย่อยอาหาร
- ความดันโลหิตลดลงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบบางรายอาจไม่แสดงอาการในเบื้องต้น จึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รับมืออย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ
- การถูกกดทับเฉพาะที่
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ข้อมือหนักๆ เป็นประจำจนทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น เช่น รับจ้างซักรีด พิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ เป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการเล่นกีฬาที่ต้องใช้มือเป็นประจำก็สามารถทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้ - เป็นผลมาจากโรคประจำตัว หรือเกิดความผิดปกติด้านอื่นแทรกซ้อน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานาน และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะทำให้เกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมักเรียกว่าโรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน (Diabetic neuropathies) นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคไทรอยด์บางชนิด โรคไตวายเรื้อรัง โรคติดต่อบางชนิด และผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านภูมิคุ้มกัน - การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
ผู้ที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแล้วไม่รีบรักษา อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังปลายประสาทจนเกิดการอักเสบได้ โดยมักเกิดบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นต้องสอดท่อช่วยหายใจ เพราะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจเกิดการล้มเหลวนั่นเอง อย่างไรก็ตามภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก - เกิดจากการขาดวิตามิน หรือสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายบางชนิด
หากขาดวิตามินบี 12 อย่างรุนแรง จะทำให้ระดับการทำงานของเซลล์ประสาทและระบบประสาทผิดปกติ เนื่องจากวิตามินบี 12 ทำหน้าที่ป้องกันเยื่อไมอีลิน (Myelin) ที่ห่อหุ้มเส้นประสาทเอาไว้ แต่สาเหตุนี้มักพบได้น้อยในปัจจุบัน - เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ
ได้รับยาหรือสารพิษบางชนิดมากจนเกินไป คือยาต้านมะเร็ง, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารตะกั่ว และปรอท เป็นต้น หากถอนพิษจนหมดก็จะกลับมาเป็นปกติ
เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจนส่งผลให้ปลายประสาทเกิดความเสียหาย หากรักษาจนอาการดีขึ้นก็จะกลับมาเป็นปกติ
วิธีดูแลรักษาปลายประสาทอักเสบแบบง่ายๆ
ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีการเหล่านี้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดขึ้นได้
1. รับประทานวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ร่วมกัน
โรคปลายประสาทอักเสบอาจเกิดจากการได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 จากอาหารไม่เพียงพอ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 เสริมในปริมาณที่สูง โดยขนาดการรักษาใน 1 วันที่ผู้ป่วยควรได้รับคือ วิตามินบี 1 ประมาณ 100–300 มิลลิกรัม วิตามินบี 6 ประมาณ 100–600 มิลลิกรัม และวิตามินบี 12 ประมาณ 400–2,000 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 มีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงเส้นประสาท โดยจะทำงานเสริมกันในการช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ประสาท ทำให้ระบบประสาททำงานได้เป็นปกติ จึงใช้รักษาอาการจากโรคปลายประสาทอักเสบได้ ซึ่งคุณสมบัติหรือหน้าที่ของวิตามินแต่ละชนิดมีดังนี้
- วิตามินบี 1 ช่วยทำให้เกิดพลังงานภายในเส้นประสาท ช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานของระบบประสาท
- วิตามินบี 6 ช่วยสร้างสารสื่อประสาทในระบบประสาท ช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานของระบบประสาทได้ดีขึ้น
- วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเสริมการทำงานของปลอกหุ้มประสาท ช่วยให้เซลล์ประสาทที่ถูกทำลายสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
2. ดูแลสุขภาพเท้า
ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานควรใส่ใจสุขภาพเท้ามากเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย การดูแลสุขภาพเท้าสามารถทำได้โดยสวมถุงเท้าผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มอยู่เสมอเพื่อปกป้องเท้า ทาครีมบำรุงผิวที่เท้าเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าแห้งแตก รวมถึงอาจประคบเย็นบริเวณเท้าครั้งละ 10 นาที วันละ 2 ครั้ง ทั้งตอนเช้าและตอนเย็นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหมั่นสังเกตรอยแผลพุพอง หรือผิวหนังที่มีลักษณะหนาและด้านซึ่งเกิดขึ้นบริเวณเท้าอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่มักส่งผลให้เกิดอาการของโรคปลายประสาทอักเสบได้ เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ปัญหาเกี่ยวกับเท้า และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะจะส่งผลให้เกิดการขาดวิตามินบี
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง รวมทั้งการพิงหรือเท้าข้อศอก
- ติดตามและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและหลากหลายตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ
4. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดเส้นประสาทและช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ เช่น การเดินเร็วสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที การเล่นโยคะ การรำไท้เก๊ก หรือการว่ายน้ำ
โรคปลายประสาทอักเสบ มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคนี้แน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิติเวช
– pobpad.com
– hdmall.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM