แผลริมแข็ง (Chancre) คืออะไร

แผลริมแข็ง (Chancre) คือ ชื่อเรียกรอยโรคชนิดแผลของโรคซิฟิลิส (Syphilis) ระยะที่ 1 แผลจะมีลักษณะเป็นวงกลม ขอบแข็ง เห็นขอบของแผลชัดเจน ขอบจะค่อนข้างนูนขึ้นกว่าบริเวณรอบๆ และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บ มักเกิดขึ้นบนบริเวณต่าง ๆ ที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย เช่น ปาก อวัยวะเพศ หรือรูทวาร ในลำไส้ ช่องคลอด นิ้วมือ อาจจะมีอาการร่วมด้วยคือ ต่อมน้ำเหลืองอาจจะโต กดไม่เจ็บ สำหรับผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคเอดส์ แผลมักจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีอาการเจ็บมาก
แผลริมแข็งมักเป็นอาการที่พบได้ในระยะแรกของการเป็นโรคซิฟิลิสหากไม่ได้รับการรักษา แผลริมแข็งจะหายไปเองเมื่อซิฟิลิสเข้าสู่ระยะถัดไป ทั้งนี้ หากพบแผลริมแข็งบนร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที ซึ่งการได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้โรคซิฟิลิส รวมไปถึงแผลริมแข็งมีอาการดีขึ้น และป้องกันไม่ให้โรคซิฟิลิสเข้าสู่ระยะถัดไปหรือมีอาการรุนแรงขึ้น

แผลริมแข็งเกิดจากอะไร
แผลริมแข็ง (Chancre) เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Treponema pallidum (STIs) เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หลังจากได้รับเชื้อ 10-90 วันโดยเฉลี่ยประมาณ 21 วัน จะมีตุ่มแดงแตกออกเป็นแผลที่อวัยวะเพศตรงบริเวณที่เชื้อเข้าไป แผลจะอยู่ 1-5 สัปดาห์ แล้วแผลจะหายไปเองโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้เห็นเลย แม้ว่าแผลจะหายไปแต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด

อาการแผลริมแข็งที่ควรไปพบแพทย์
หากพบแผลริมแข็งบนร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะแผลริมแข็งมักเป็นสัญญาณของการติดเชื้อซิฟิลิส นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเชื้อซิฟิลิส หากเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อซิฟิลิส เช่น

  • เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส
  • ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคเอชไอวี (HIV)
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • มีคู่นอนมากกว่า 1 คน
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า
  • กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่

การรักษาแผลริมแข็ง
ถึงแม้ว่าแผลริมแข็งอาจหายได้เองภายใน 3–6 สัปดาห์ แต่แผลริมแข็งควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพราะภายในร่างกายยังมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิสอยู่ และอาจส่งผลให้อาการเข้าสู่ระยะถัดไป โดยแผลริมแข็งอาจรักษาได้ด้วยการรักษาโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น การฉีดยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine penicillin G) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค
สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และมีแผลริมแข็งจากการเป็นโรคซิฟิลิส แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มยาเพนนิซิลลินเพื่อรักษาการติดเชื้อ เพื่อป้องกันทารกในครรภ์จากการเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม เมื่อให้กำเนิดบุตรแล้ว ควรให้ทารกตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ในกรณีที่ทารกติดเชื้อ แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคต่อไป
โดยในวันแรกของการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้จากการใช้ยาในการรักษา
นอกจากนี้ คู่นอนหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ควรเข้ารับการรักษาโรคซิฟิลิสด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยในระหว่างการรักษา ผู้ติดเชื้อควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลริมแข็งจะหมดไป และรักษาซิฟิลิสจนหายดี เพื่อลดโอกาสการส่งต่อเชื้อให้แก่ผู้อื่น
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสุขภาพของผู้ติดเชื้อ โดยผู้ติดเชื้อควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามอาการอย่างเคร่งครัด หากเข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมอาจช่วยรักษาโรคซิฟิลิส รวมไปถึงแผลริมแข็งให้หายขาดได้

ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมแข็ง
ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิสอาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยอาจทำให้โรคซิฟิลิสเข้าสู่ระยะที่ 2 และมีอาการรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น

  • มีไข้สูง
  • ผื่นแดงตามร่างกาย
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ผมร่วง
  • น้ำหนักลดลง

นอกจากนี้ หากปล่อยโรคซิฟิลิสทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น เพิ่มโอกาสการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) อัมพาต สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการได้ยิน และซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphillis) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่สมอง

การป้องกันแผลริมแข็ง
การป้องกันแผลริมแข็งอาจเริ่มจากการป้องกันการเกิดโรคซิฟิลิส ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อที่ทำให้เกิดซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • หากเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง ควรตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากตรวจพบเชื้อ
  • งดการใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจกำจัดแบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดออกไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคซิฟิลิสได้
  • งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคซิฟิลิส รวมไปถึงความเสี่ยงในการเกิดอาการอื่น ๆ ของโรคซิฟิลิสอย่างแผลริมแข็งอีกด้วย
  • นอกจากวิธีเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลริมแข็งแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้แผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในอนาคต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– pobpad.com
– pulse-clinic.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี