ยา Bismuth subsalicylate (บิสมัท ซับซาลิไซเลต) – ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) คือ ยาใช้รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย, อาการแสบร้อนกลางอก, อาหารไม่ย่อย, โดยเป็นยารับประทานทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน ตัวยาซาลิไซเลตจะช่วยยับยั้งการหลั่งสารน้ำ (เช่น กรดและเอนไซม์ต่างๆ) ในทางเดินอาหาร และลดการอักเสบของผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่วนบิสมัทจะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร เช่น Helicobacter pylori (H. pylori) ซึ่งพบได้บ่อยระหว่างการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้ออื่นๆที่มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น E.coli, Salmonella, Shigella, Clostridium difficile, Campylobactor jejuni รวมถึงแบคทีเรียประจำถิ่นที่ อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์อีกด้วย

ข้อบ่งใช้

  • รักษาอาการท้องเสีย เช่น อาการท้องเสียระหว่างการเดินทาง (โรคอาหารเป็นพิษ)
  • รักษาภาวะกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร
  • รักษาโรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) ในกระเพาะอาหาร
  • รักษาภาวะ ท้องอืด, อาหารไม่ย่อย เนื่องจากมีกรดมาก

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตคือ ตัวยาจะยับยั้งการหลั่งสารน้ำในทาง เดินอาหาร นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Urease Phospholipase และกระบวน การย่อยโปรตีนของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์ จนส่งผลให้แบคทีเรียตายลง ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตยังสามารถเข้ารวมกับพิษของแบคทีเรียที่ชื่อ E. coli และทำให้ฤทธิ์ของสารพิษอ่อนลง

รูปแบบยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 524 และ 1,048 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 262 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Bismuth Subsalicylate

ยา Bismuth Subsalicylate อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง อาทิ บริเวณลิ้นเป็นสีดำ ท้องผูก และอุจจาระเป็นสีเข้มหรือสีดำ หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา โดยมักจะเกิดผื่น ลมพิษ มีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้าและคอ หรือหายใจลำบาก
  • ปวดหัว เวียนหัว
  • อ่อนเพลีย ง่วงซึม
  • หูอื้อ หรือสูญเสียการได้ยิน
  • หิวน้ำมากผิดปกติ
  • เหงื่อออกมาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น หรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • ท้องร่วงติดต่อกันนานกว่า 2 วัน
  • อาการปวดท้องรุนแรงขึ้น

ขนาดรับประทาน

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตมีขนาดรับประทานแตกต่างตามอาการของโรคและอายุผู้ป่วย ขนาดยาจึงขึ้นกับแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาสำหรับบรรเทา/รักษาอาการท้อง เสีย เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: เช่น รับประทานยาน้ำแขวนตะกอนครั้งละ 30 มิลลิลิตร หรือยาเม็ดขนาด 524 มิลลิกรัม 1 เม็ดทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ขนาดสูงสุดของการรับประทานยาไม่เกิน 8 ครั้ง/วัน และควรรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน
  • เด็กอายุ 3 – 6 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 87 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น (As needed)
  • เด็กอายุ 6 – 9 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 175 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • เด็กอายุ 9 – 12 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 262 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่งเมื่อรับประทานยานี้ ควรรับประทานน้ำตามเป็นปริมาณมากพอสมควร และสามารถรับ ประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

มีข้อควรระวังการใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต

  1. ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยากลุ่มซาลิไซเลตหรือยาแอสไพริน
  2. ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์
  3. ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เข้ามารองรับการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างแน่ชัด
  4. ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มาก
  5. เมื่อใช้ยานี้อาจเกิดภาวะลิ้นเป็นสีคล้ำหรืออุจจาระมีสีเทาดำ อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยา
  6. ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติเนื่องจากได้รับสารซาลิไซเลตมากเกินไป
  7. ระวังการเกิดพิษกับเส้นประสาทจากบิสมัท ซับซาลิไซเลต
  8. การใช้ยานี้สามารถรบกวนผลการตรวจเอกซเรย์เพื่อตรวจความผิดปกติของกระเพาะอา หารและลำไส้
  9. ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  10. ห้ามใช้ยาหมดอายุ

ควรเก็บยา

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– หาหมอ.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี