ยา Neomycin (นีโอมัยซิน) ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

Neomycin (นีโอมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ใช้รักษาโรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy) ใช้ฆ่าเชื้อโรคในลำไส้ก่อนผ่าตัด และรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ยา Neomycin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

  • เกี่ยวกับยา Neomycin
  • กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
  • ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
  • สรรพคุณ รักษาโรคสมองจากโรคตับ และรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
  • รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาใช้ภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา Neomycin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยใด ๆ โดยเฉพาะภาวะลำไส้อุดตันและมีแผลในกะเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
  • การใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจทำให้เด็กแรกเกิดและเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดความผิดปกติด้านการได้ยินเสียง ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังวางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ

ปริมาณการใช้ยา Neomycin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ฆ่าเชื้อในลำไส้ก่อนผ่าตัด

ผู้ใหญ่

  • รับประทานยาปริมาณ 1 กรัม ทุก 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ภายในช่วง 2-3 วัน ก่อนผ่าตัด

เด็ก

  • อายุ 6-12 ปี รับประทานยาปริมาณ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ภายในช่วง 2-3 วัน ก่อนผ่าตัด
  • อายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 1 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง ภายในช่วง 2-3 วัน ก่อนผ่าตัด

รักษาโรคสมองจากโรคตับ

ผู้ใหญ่

  • ใช้เป็นยาเสริมในการรักษา โดยรับประทานยาปริมาณ 4-12 กรัม/วัน แบ่งรับประทานนาน 5-7 วัน
  • สำหรับผู้ป่วยภาวะตับบกพร่องเรื้อรัง ให้รับประทานยาปริมาณ 4 กรัม/วัน โดยช่วงเวลาที่ใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

เด็ก

  • ใช้เป็นยาเสริมในการรักษา โดยรับประทานยาปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งรับประทานนาน 5-7 วัน

รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง

ผู้ใหญ่

  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อแล้วทายาวันละ 2 ครั้ง

เด็ก

  • อายุ 2 ปี ขึ้นไป ใช้ยาปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

การใช้ยา Neomycin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • สามารถรับประทานยา Neomycin พร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ แต่หากมีอาการปวดท้องหรือคลื่นไส้ ให้รับประทานยาพร้อมกับอาหาร
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และใช้ยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง และวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Neomycin

การใช้ยา Neomycin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ท้องเสีย และอาเจียน เป็นต้น แต่หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น เป็นลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ไตทำงานผิดปกติ สังเกตได้จากอาการบางอย่าง เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือหมดสติ
  • มีเสียงดังในหู หรือสูญเสียการได้ยิน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • รู้สึกแสบหรือชาคล้ายมีเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • กระตุก หรือมีอาการชัก
  • มีปัญหาในการทรงตัว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– หาหมอ.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี