ไซโปรเตอโรน (Cyproterone) คือ สารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างคล้ายยากลุ่มสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนชื่อแอนโดรเจน(Androgen) ที่พบมากในเพศชายซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นการเจริญ เติบโตให้ร่างกายมีลักษณะของบุรุษเพศ ทางคลินิกพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีแอนโดรเจนปริมาณมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้มะเร็งต่อมลูกหมากเจริญขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้แอนโดรเจนยังกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศสูงขึ้นอีกด้วย
ยาไซโปรเตอโรนจะทำให้การออกฤทธิ์ของแอนโดรเจนลดน้อยลงไป ทั้งนี้เซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจนตัวที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า เทสทอสเทอโรน (Testosterone) เพื่อขยาย และเพิ่มปริมาณของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นจึงมีการวิจัยใช้ยาไซโปรเตอโรนช่วยชะลอการเจริญเติบโต ของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากดังกล่าว ปัจจุบันอาจพบเห็นการใช้ยาไซโปรเตอโรนในรูปแบบของ Cyproterone acetate (ย่อว่า CPA) ภายใต้ชื่อการค้าว่า Cyprostat, Siterone และ Androcur และ มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทานและยาฉีด
การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารของยานี้เป็นไปได้ถึง 100% เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 96% จากนั้นจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเผาผลาญและ ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี คนเราต้องใช้เวลาประมาณ 40 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งของปริมาณยาที่ได้รับโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ปกติก่อนการใช้ยาไซโปรเตอโรนแพทย์มักทำการตรวจคัดกรองและสอบถามข้อมูลส่วนตัว/ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาประกอบกัน เช่น
- อายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ ด้วยถือเป็นข้อห้ามใช้ของผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ป่วยเป็นโรคตับ หรือติดสุรา หรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือไม่
- เคยมีปัญหาหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดที่ขาหรือในปอดหรือไม่
- ป่วยเป็นโรคเลือดประเภท เม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia)
- ป่วยเป็นเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง ที่เรียกว่า Meningioma หรือเป็นมะเร็งชนิดอื่นอยู่หรือไม่
กรณีที่แพทย์ตรวจคัดกรองและสั่งจ่ายไซโปรเตอโรนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยพึงปฏิบัติ ควรมีดังนี้ เช่น
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้งเพราะแพทย์ต้องมีการติดตามอาการหลังใช้ยานี้โดยใช้ผลการตรวจเลือดมาประกอบ อีกทั้งต้องตรวจสอบการทำงานของต่อมอะดรีนัล/ต่อมหมวกไต (Adrenal glands) ว่าได้รับผลกระทบจากการรักษาโดยยาไซโปรเตอโรนหรือไม่
- ยาไซโปรเตอโรนอาจทำให้ผู้ใช้ยารู้สึก เหนื่อย อ่อนเพลีย หากเกิดอาการเหล่านี้ควรเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- แพทย์จะแนะนำมิให้ผู้ป่วยดื่มสุราระหว่างการใช้ยานี้ด้วยจะรบกวนฤทธิ์การรักษาของยาไซโปรเตอโรน
- ช่วง 2 – 3 สัปดาห์หลังใช้ยาไซโปรเตอโรนจำนวนอสุจิของบุรุษจะลดน้อยลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่ายา
ไซโปรเตอโรนเป็นยาคุมกำเนิดของผู้ชาย เมื่อหยุดใช้ยาจำนวนอสุจิก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
อนึ่ง อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของการใช้ยาไซโปรเตอโรนในผู้ป่วยชายแต่ละคนจะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก บางคนพบอาการข้างเคียงน้อย บางคนพบมาก แล้วแต่กรณีไป แพทย์มักจะแนะ นำวิธีการลดอาการข้างเคียงดังกล่าวเช่น หากมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ก็ให้ไปอยู่ในที่ที่อากาศระบายดี ใส่เสื้อผ้าบางๆ แต่สำหรับบางอาการที่รุนแรงโดยเกิดขึ้นหลังการใช้ยานี้ แพทย์อาจต้องปรับแผนการรักษาเช่น มีอาการปวดท้องร่วมกับตัวเหลืองตาเหลืองซึ่งส่ออาการของความผิดปกติที่ตับ หรือมีอาการเบื่ออาหารมาก น้ำหนักลดผิดปกติ ท้องเสีย ซึมเศร้า ที่ทั้งหมดเป็นอาการอาจส่อถึงความผิดปกติของต่อมอะดรีนัล/ต่อมหมวกไต ประการสุดท้ายที่แพทย์อาจจะแนะนำผู้ป่วยคือ ห้ามปรับ เปลี่ยนการรับประทานยานี้ด้วยตนเองเป็นอันขาด หรือถ้าผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดการใช้ยานี้อีกไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดรับประทาน ระยะเวลาของการใช้ยา การเฝ้าติดตามอาการป่วยของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ต้องสัมพันธ์กับการรักษา ฯลฯ ดังนั้นผู้ป่วย/ผู้ บริโภคควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด พร้อมกับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
ไซโปรเตอโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร
ยาไซโปรเตอโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรก
- ใช้เป็นยาควบคุมอาการป่วยของมะเร็งต่อมลูกหมากหลังจากการผ่าตัดหรือใช้ยาอื่นรักษาแล้วไม่ได้ผล
ไซโปรเตอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไซโปรเตอโรนจะออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานและชะลอปริมาณของฮอร์โมนแอนโดรเจนจากการสร้างจากอัณฑะ ส่งผลให้การเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นลดน้อยลง จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ไซโปรเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไซโปรเตอโรนที่จำหน่ายในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ไซโปรเตอโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซโปรเตอโรนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 1 – 3 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซโปรเตอโรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโปรเตอโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซโปรเตอโรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไซโปรเตอโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซโปรเตอโรนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ภาวะตัวอสุจิของผู้ใช้ยาลดลงจนถึงขั้นเทียบเท่าเป็นหมัน
- มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย
- รู้สึกร้อนวูบวาบและเหงื่อออกมาก
- รู้สึกซึมเศร้า
- กระวนกระวาย
- หายใจได้ไม่สะดวก/หายใจลำบาก
- น้ำหนักตัวลดหรือไม่ก็เพิ่ม
- บางคนอาจพบอาการตัวเหลือง
- ปวดท้อง
- เกิดหลอดเลือดขอด
- ระบบการเผาผลาญอาหารประเภทแป้งในร่างกายลดประสิทธิภาพลงไป (อ้วนง่าย)
- อาจมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ แต่กลับมีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- มีภาวะเต้านมโต/ ผู้ชายมีนม
- อารมณ์ทางเพศลดลง
- อาจมีอาการน้ำนมไหล
มีข้อควรระวังการใช้ไซโปรเตอโรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโปรเตอโรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ หรือมีเนื้องอกที่ตับ
- ห้ามนำยานี้ไปใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นที่นอกเหนือจากมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซโปรเตอโรนกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยยานี้จะทำให้อาการของโรคเหล่านั้นกำเริบมากขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
ไซโปรเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซโปรเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาไซโปรเตอโรน ร่วมกับ สุราด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพและฤทธิ์ของการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง
- การใช้ยาไซโปรเตอโรน ร่วมกับยาเบาหวาน อาจเกิดการรบกวนและทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติไป (อาจสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง) เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ยาบางรายการจะรบกวนการออกฤทธิ์ของยาไซโปรเตอโรน ควรต้องแจ้งข้อมูลการใช้ยาต่างๆกับแพทย์เสมอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับขนาดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาบางรายการที่กล่าวถึง เช่นยา Rifampicin, Phenytoin, Ketoconazole, Itraconazole, Clotrimazole, และ Ritonavir
- การใช้ยาไซโปรเตอโรน ร่วมกับยากลุ่ม Statins อาจเกิดการกระตุ้นให้มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (การอักเสบรุนแรงของกล้ามเนื้อลาย) เพื่อป้องมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไซโปรเตอโรนอย่างไร?
ควรเก็บยาไซโปรเตอโรน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– HDmall.co.th
– เว็บหาหมอ.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM