โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Haemophilus Ducreyi ซึ่งทำให้เกิดแผลเปื่อยบริเวณอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ซึ่งอาจมีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากแผล ทำให้สามารถแพร่เชื้อไปยังคู่นอนระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก รูทวาร หรือช่องคลอดได้
อาการของแผลริมอ่อน
หลังจากได้รับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ประมาณ 3-7 วัน จะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงบริเวณอวัยวะเพศ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนอง และอาจแตกออกเมื่อถูกเสียดสี มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณแผล ผู้ที่รักษาโรคไม่หายขาดเกือบครึ่งมักมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างเดียวหรืออาจเป็นทั้ง 2 ข้าง
อาการของแผลริมอ่อนในผู้ชายและผู้หญิงอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในผู้ชายมักจะสังเกตเห็นตุ่มแดงขนาดเล็กที่อวัยวะเพศไม่กี่ตุ่ม โดยเฉพาะบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาตและถุงอัณฑะ ก่อนจะกลายเป็นแผลเปิดภายใน 1-2 วัน มีอาการเจ็บหรือปวดมาก ส่วนใหญ่มีแผลเพียงจุดเดียว
ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิดตุ่มแดงมากกว่าผู้ชาย พบได้บ่อยบริเวณแคมเล็กหรือด้านนอกของอวัยวะเพศ ต้นขา ขาหนีบ และปากมดลูก มีอาการเจ็บปวดน้อยกว่า หลังจากตุ่มแดงหายไปจะเริ่มกลายเป็นแผลเช่นเดียวกัน แต่จำนวนแผลมักมีมากกว่า 4 แผลขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่นได้ จึงทำให้ผู้หญิงมักสังเกตอาการได้ค่อนข้างยากกว่าผู้ชาย เนื่องจากลักษณะโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
ลักษณะและอาการอื่น ๆ ที่มักพบร่วมกันในผู้ชายและผู้หญิง เช่น
- ขนาดของแผลมีตั้งแต่ ⅛ – 2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร-5 เซนติเมตร)
- บริเวณแผลมีอาการปวดมาก
- ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ
- ลักษณะกลางแผลค่อนข้างนิ่ม มีความนูน ขอบแผลชัดเจน มีตั้งแต่สีเหลืองปนเทาไปจนถึงสีเทา
- เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีอาจทำให้เลือดออกที่แผลได้ง่าย
- ปวดในขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือมีเพศสัมพันธ์
- ในผู้หญิง อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตจนกลายเป็นแผลหนอง และอาจทำให้เกิดฝีขนาดใหญ่
สาเหตุของแผลริมอ่อน
การติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi เกิดจากการสัมผัสโดนของเหลวจากแผลโดยตรง ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ ส่วนระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 1 วัน-2 สัปดาห์ แต่เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา
เชื้อชนิดนี้มักระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือถิ่นที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่สะอาดเพียงพอ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อในระหว่างที่พักอาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้
แผลริมอ่อนมีลักษณะคล้ายโรคอะไรบ้าง ?
- แผลริมอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกับแผลจากโรคอื่นๆได้คือ
- เริม ลักษณะจะเป็นตุ่มเล็กๆหลายๆตุ่ม มีลักษณะเจ็บ
- ซิฟิลิส ลักษณะแผลของซิฟิลิสจะขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ
- ฝีมะม่วง ลักษณะจะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
การรักษาแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อน รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นภายใน 7 วัน เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกประเภท ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้นและลดรอยแผลเป็น ในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่หรือเกิดฝีภายในต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อระบายเอาหนองหรือฝีออก และลดโอกาสปวดบวมของแผล
การป้องกันแผลริมอ่อน
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค
- ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หากเป็นแผลที่อวัยวะเพศควรงดการมีเพศสัมพันธ์
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– กรมควบคุมโรค
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM