อาการปวดหัวในเด็ก เรื่องไม่เล็กของลูกที่พ่อแม่ต้องระวัง

อาการปวดหัวในเด็กอย่างไร ที่พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย ควรรีบมาพบแพทย์ หากลูกของท่านมีอาการปวดหัวลักษณะแบบนี้ อาการปวดหัวรุนแรงฉับพลันทันที อาจจะเกิดจาก ภาวะเลือดออกในสมองได้ มีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วย ชัก อ่อนแรง ซึม เดินเซ เห็นภาพซ้อน หรือ จะจำง่ายๆ ว่า “ชัก อ่อน ซึม เซ ซ้อน”

อาการปวดหัวของเด็กๆ

เราสามารถแบ่งอาการปวดหัวในเด็กได้เป็น 2 แบบ

  1. อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary Headache) : เป็นอาการปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น อาการปวดหัวไมเกรน ,อาการปวดหัวจากความเครียด เป็นต้น จะมีอาการเป็นๆ หายๆ อาการปวดหัวจากส่วนอื่นๆ บริเวณใบหน้า เช่น ไซนัสอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น
  2. อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary Headache) : เป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุ แต่อาจไม่อันตราย เช่น มีไข้ หรือติดเชื้อแล้วมีอาการปวดหัวร่วมด้วย หรืออาจมีสาเหตุที่อันตราย เช่น มีภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง มีเนื้องอกในระบบประสาท มีเลือดออกในสมอง หรือมีภาวะความดันในสมองสูง ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของลูกได้เช่นกัน

ปวดหัวแบบไหนที่พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย

  • ปวดหัวครั้งแรกแต่ดูรุนแรงมากจนลูกร้องไห้
  • ปวดหัวมากโดยเฉพาะตอนตื่น ตอนเบ่ง และตอนไอ
  • มีอาการอาเจียนพุ่ง
  • มีอาการร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ซึม ชัก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ตาเข อ่อนแรง เคลื่อนไหวผิดปกติ

ปวดหัวแต่ละแบบรักษาได้อย่างไรบ้าง

  1. ปวดหัวแบบฉับพลัน ไม่รุนแรงมาก ให้ยาพาราเซตามอลร่วมกับให้นอนพัก และสังเกตอาการ
  2. ปวดหัวอย่างรุนแรง ชัก อ่อนแรง ซึม เดินเซ ให้ควรรีบไปพบแพทย์
  3. ปวดหัวมากกว่า 15 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป

สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวังเพราะทำให้เด็กอาจปวดหัวได้

  • สิ่งกดทับหรือรัดบริเวณศีรษะ เช่น หมวก ผ้าคาดผม สายรัดศีรษะ ต้องไม่รัดแน่นเกินไป หรือใส่เป็นเวลานาน เพราะทำให้ลูกเจ็บหรือปวดหัวได้
  • ไม่อุ้มเขย่า (Baby Shaken Syndrome) ไม่อุ้ม เขย่า โยน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองของลูกฉีกขาด เลือดออกในสมอง และเพิ่มแรงดันในสมอง ทำให้เด็กปวดหัวมากขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้
  • พ่อแม่ต้องระวังอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการตกจากที่สูง เช่น เตียง เก้าอี้ อาจทำให้เลือดออกในสมองจนปวดหัวมากและเสี่ยงเสียชีวิตได้ด้วย

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดหัวอันตรายหรือไม่

โดยปกติ มักวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจค้นเพิ่มเติม จะทำในกรณีที่ประวัติและการตรวจร่างกาย สงสัยว่าอาจจะมีสาเหตุที่อันตรายในสมอง การตรวจภาพสมอง (CT scan หรือ MRI) พิจารณาทำ ในกรณีที่จากประวัติและการตรวจร่างกาย ชวนให้สงสัยว่าอาจจะมีพยาธิสภาพในสมอง เช่น มีเนื้องอกในสมอง มีน้ำคั่งในโพรงสมอง การเจาะน้ำไขสันหลัง จะพิจารณาในกรณีที่สงสัยภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือ ความดันในสมองสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Intracranial Hypertension)

อาการปวดหัวในเด็กแต่ละแบบ รักษาอย่างไร

หากปวดหัวฉับพลันแต่ไม่รุนแรงมาก ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน และ มีสาเหตุที่พออธิบายได้ เช่น มีไข้ อากาศร้อน นอนไม่พอ หลังได้ยินเสียงดัง อาจจะพิจารณาให้ยาพาราเซตามอลร่วมกับให้นอนพัก และ สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์ หากปวดหัวฉับพลันอย่างรุนแรง หรือ ปวดหัวฉับพลันร่วมกับมีสัญญาณเตือนอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ หากปวดหัวเรื้อรัง (ปวดหัว นานเกินกว่า 15 วัน) ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาตามการวินิจฉัย อาการปวดหัวเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
– โรงพยาบาลรามคำแหงแม่และเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี