ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เรื่องควรรู้และผลข้างเคียงที่ต้องระวัง!

ในปัจจุบันมีวิธีการคุมกำเนิดให้เลือกใช้อยู่หลายวิธี การฝังยาคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และยังสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นระยะเวลานาน เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น กินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงคุมกำเนิด แปะแผ่นยาคุมกำเนิด ใส่ถุงยางอนามัย การนับวัน และการหลั่งภายนอก จึงทำให้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในผู้ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์

ยาฝังคุมกำเนิด คืออะไร ?

ยาฝังคุมกำเนิด หรือ การฝังยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยการฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนเล็กๆ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ออกฤทธิ์นานโดยออกฤทธิ์ได้นาน 3-5 ปี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์การตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยยาฝังคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก โดยมีโอกาสล้มเหลวที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.05-0.1%

นอกจากนี้ สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องหยุดการคุมกำเนิดหรือถอดยาออก

ยาฝังคุมกำเนิด มี 3 ประเภท

  1. ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 6 หลอด
    ลักษณะเป็นแคปซูลซิลิโคนขนาด 2.4 มิลลิเมตร x 34 มิลลิเมตร แต่ละแท่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล 36 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี
    เช่น Norplant (นอร์แพลนท์) แต่เนื่องจากการฝังยาและเอาออก ใช้เวลานานและมีรอยแผลขนาดเล็ก ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมและยกเลิกใช้ไป
  2. ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 2 หลอด
    ลักษณะเป็นหลอดซิลิโคนขนาด 2.5 มิลลิเมตร x 43 มิลลิเมตร สามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี แต่ละแท่งจะมีเลโวนอร์เจสเตรล 75 มิลลิกรัม เช่น Jadelle (จาเดลล์) แม้การฝังยาและเอาออกจะมีรอยแผลขนาดเล็กเช่นเดียวกัน แต่ด้วยระยะเวลาที่สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 5 ปี จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
  3. ยาฝังกำเนิดชนิด 1 หลอด
    ลักษณะเป็นแท่งซิลิโคนขนาด 2 มิลลิเมตร x 40 มิลลิเมตร สามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี มี เอโทโนเจสเตรล 68 มิลลิกรัม เช่น Implanon (อิมพลานอน) มาพร้อมอุปกรณ์สำหรับการฝังหลอดยา ทำให้ทำได้สะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องมีรอยแผลผ่า และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็สามารถถอดออกได้โดยง่าย มีรอยแผลขนาดเล็กเท่านั้น และฝังแท่งใหม่เข้าไปได้เลย

การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล หรือเอโทโนเจสเตรล ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญที่ปล่อยจากแท่งยาอย่างต่อเนื่องและออกฤทธิ์ ดังนี้

  • ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์
  • ลดปริมาณมูกปากมดลูกและทำให้มูกปากมดลูกข้นหนืดจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ
  • ลดการโบกพัดของขนอ่อนในท่อนำไข่
  • ลดขนาดและลดจำนวนต่อม ซึ่งทำหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่เยื่อบุมดลูก

ขั้นตอนการยาฝังคุมกำเนิด

การเตรียมตัวฝังยาคุมกำเนิด ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่และผ่านการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว เพราะยาที่ฝังจะมีผลในทันที โดยผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด สามารถเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือหลังแท้งบุตรธรรมชาติทันทีหรือ 2-3 สัปดาห์ หรือหลังคลอด 4-6 สัปดาห์ มีขั้นตอน ดังนี้

  1. แพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  2. ฉีดยาชาเฉพาะที่ไปที่บริเวณใต้ท้องแขนที่จะฝังยาเข้าไป
  3. ใช้เข็มเปิดแผลที่ท้องแขนขนาด 0.3 เซนติเมตร
  4. สอดใส่แท่งที่มีหลอดยาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็มนำ
  5. เมื่อหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้ว นำเข็มและแท่งนำหลอดยาออก
  6. ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เล็ก ๆ ตามด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่ง
  7. แพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทาน หากมีอาการปวดแผล
  8. การฝังยาคุมกำเนิดใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-20 นาที หลังฝังยาคุมกำเนิดเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะลองจับบริเวณที่ฝัง เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของยา ที่ฝังเข้าไป หรือหากมีความจำเป็นอาจต้องทำอัลตราซาวด์หรือ X-Ray เพื่อยืนยันว่ายาฝังคุมกำเนิดได้ถูกฝังเอาไว้อย่างถูกต้อง

ผลข้างเคียงที่อาจพบหากคุมกำเนิดด้วยวิธียาฝังคุมกำเนิด

  • มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อยๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา
  • บางรายอาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น (พบได้น้อยมาก)
  • ปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในช่วง 2-3 เดือนแรก
  • ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
  • บริเวณที่ฝังแท่งยาอาจเกิดการอักเสบ หรือมีรอยแผลเป็นได้
  • อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
  • มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
  • เวียนศีรษะ
  • บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
  • เกิดฝ้า สิว
  • ช่องคลอดอักเสบและแห้ง
  • อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ

*ข้อควรระวัง เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางประเภท จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
(ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม โรคตับที่รุนแรง และโรคหลอดเลือดดำอุดตัน)

การดูแลตัวเองหลังฝังยาคุม

  1. หลัง 24 ชั่วโมง สามารถนำผ้าพันแผลออกได้ แต่ยังคงเหลือพลาสเตอร์ปิดแผลเอาไว้
  2. หลัง 3-5 วัน นำพลาสเตอร์ปิดแผลออกได้ ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วัน
  4. ครบ 7 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลอีกครั้ง
  5. เมื่อครบกำหนด 3-5 ปี มาเปลี่ยนยาคุมกำเนิดแท่งเดิมออก เพราะประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงและฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่

นำแท่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังออกได้เมื่อไร

  • ยุติการคุมกำเนิด เมื่อต้องการตั้งครรภ์
  • เปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิด เมื่อต้องการเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน
  • ครบกำหนดระยะเวลา ตัวยาคุมกำเนิดแบบฝังอยู่ได้นานประมาณ 3-5 ปี ขี้นอยู่กับชนิดของตัวยา หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีฝังยาคุมกำเนิดต่อ ต้องนำยาคุมกำเนิดแท่งเดิมออกและฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่
  • แท่งยาคุมชำรุด เกิดการหักของแท่งยาคุม ทำให้ยาถูกปล่อยออกมาเร็วเกินจนเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนด ต้องนำยาคุมกำเนิดแท่งเดิมออกและฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่
  • เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) หรือสมองขาดเลือด (stroke) หลังการฝังยา, ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) ทั้งภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึก (deep vein thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism), ความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้, โรคดีซ่านหรือภาวะเหลือง (jaundice), โรคไมเกรนที่มีอาการเตือน (migraine with aura) และภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน
  • แท่งยาคุมกำเนิดเคลื่อนที่ หากยาฝังคุมกำนิดเคลื่อนที่จนคลำไม่ได้ ต้องตรวจหาตำแหน่ง เช่น อัลตราซาวน์, X-Ray, CT Scan แล้วนำยาคุมกำเนิดแท่งเดิมออกและฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ เพราะการที่ยาเคลื่อนที่ ทำให้ยาถูกปล่อยออกมาเร็วเกินจนเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนด และเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ

ทั้งนี้ การนำแท่งยาคุมกำเนิดออก ไม่ควรนำออกเอง ต้องนำออกโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลPMG
– โรงพยาบาลศิครินทร์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่มีบัญชี