ไส้เลื่อนเป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง ที่พบบ่อยที่สุดบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia) เนื่องจากผู้ชายวัย 40+ จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้พละกำลัง เช่น แบกถุงกอล์ฟ จัดสวน ปีนเขา เล่นเวท ออกกำลังกาย โดยมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อร่วมกับกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบที่มีความหย่อนยานขาดความแข็งแรง ส่วนในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักพบไส้เลื่อนลงอัณฑะหรือไส้เลื่อนลงไข่จากการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ท้องผูกเรื้อรัง สูบบุหรี่ ส่วนผู้หญิงก็สามารถพบอาการของโรคนี้ได้เรื่อย ๆ เช่นกัน
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ อาการที่ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้อง เนื่องจากมีช่องบริเวณผนังหน้าท้อง มีลักษณะเป็นก้อนนุ่มบริเวณหัวหน่าว เห็นได้ชัดเจนเมื่อยืน เดิน แต่หากนอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง มีรูรั่ว การมีแรงดันในช่องท้องสูงจากพฤติกรรมการยกของหนัก การอุจจาระ การไอ รวมถึงการออกกำลังกาย
ชนิดและสาเหตุของโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย และแบ่งออกได้หลายชนิดตามตำแหน่งและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบมากที่สุด และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไส้เลื่อนชนิดนี้มี 2 ลักษณะคือ
1.1 ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่เกิดจากผนังหน้าท้องส่วนล่างหย่อนยาน ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวเหน่า (direct inguinal hernia)
1.2 ไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (indirect inguinal hernia) ซึ่งรูเปิดนี้เดิมเป็นทางออกของเลือดที่มาเลี้ยงลูกอัณฑะระหว่างพัฒนาการของทารกในครรภ์มารดาและจะปิดไปตามธรรมชาติ แต่เกิดความผิดปกติที่ทำให้รูเปิดยังคงอยู่ ทำให้ลำไส้หรือแผ่นไขมันเคลื่อนออกมาได้ และอาจเคลื่อนต่อเนื่องไปยังถุงอัณฑะ - ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia) พบในตำแหน่งต้นขาด้านในหรือที่เรียกว่าช่อง femoral canal แต่พบได้ค่อนข้างน้อยและมักพบเฉพาะในผู้หญิง โดยสาเหตุอาจเกิดจากผนังของ ช่อง femoral canal อ่อนแอแต่กำเนิด หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia) เป็นไส้เลื่อนที่เกิดกับผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน หรืออาจเกิดระหว่างที่แผลผ่าตัดยังไม่หายสนิทก็ได้ โดยพบได้ทุกเพศทุกวัยเนื่องจากการผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอหรือหย่อนยานจนลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ดันตัวขึ้นมา
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernia) มักพบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังยังปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งหรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น แต่ไส้เลื่อนสะดือยังสามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้
- ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรงซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เรียกกันว่าซิกซ์แพ็ค
- ไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) เกิดจากการที่ผนังกระบังลมหย่อนยานหรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก เป็นภาวะไส้เลื่อนที่พบได้ในผู้สูงวัย
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้น้อยมากและมีความรุนแรงค่อนข้างมาก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอมบาง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน
ปัจจัยเสริมที่ทำให้อวัยวะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีรูเปิดผิดปกติ ได้แก่ แรงดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ
- ไอเรื้อรัง เช่น การไอของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
- การตั้งครรภ์
- การยกของหนักเป็นประจำ
- การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
- ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ
- มีของเหลวในช่องท้อง เช่น เกิดจากการที่ตับมีปัญหา
อาการของโรคไส้เลื่อน
อาการหลักๆ ของโรคไส้เลื่อนจะรู้สึกได้ถึงก้อนที่ตุงอยู่บริเวณที่มีไส้เลื่อนออกมา เช่น บริเวณผนังหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ และมีอาการปวดเวลาต้องก้มตัว ไอ ยกของ บางรายอาจมีรู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน ท้องผูก อาเจียน หากมีอาการปวดเป็นแบบเฉียบพลัน และรุนแรง แสดงว่าลำไส้ขาดเลือด ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินทันที การขาดเลือดทำให้ลำไส้เกิดเนื้อตายและเน่า และเกิดอาการติดเชื้อที่อันตรายได้
การตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน
เบื้องต้นเริ่มจากการสังเกตตัวเองก่อน การพบความผิดปกติภายนอกของร่างกาย โดยมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด
ซึ่งแพทย์ วินิจฉัยโรคไส้เลื่อน จากอาการเป็นหลักพร้อมกับการตรวจร่างกายเพื่อดูก้อนที่นูนขึ้นมาว่าเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น หากไม่สามารถตรวจดูได้จากความผิดปกติภายนอกร่างกาย แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
การรักษาไส้เลื่อนมีวิธีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง ทำโดยปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดีคือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถดมยาหรือบล็อคหลังได้
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว หลายคนเคยได้ข่าวนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติชื่อดังหลายคนก็เคยผ่าตัดลักษณะนี้แล้ว สามารถกลับไปเตะฟุตบอลอาชีพได้ในไม่กี่สัปดาห์
การป้องกันไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนที่ไม่ใช่ความผิดปกติแต่กำเนิด อาจสามารถป้องกันได้ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีเพื่อป้องกันท้องผูกและการเบ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังเมื่อต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
- หากมีอาการไอเรื้อรัง ต้องรักษาให้หายขาด
- ไม่สูบบุหรี่
สำหรับผู้ชายที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมย่อมมาเยี่ยมเยือน เพิ่มโอกาสการเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อคลำได้ก้อนอย่าอายหรือชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญจะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพราะการปล่อยทิ้งไว้นานความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตได้ ส่วนในชายเริ่มสูงวัย หากป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตก็ควรรีบรักษาเพราะช่วยป้องกันไส้เลื่อนซ้ำได้ด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
– โรงพยาบาลนครธน
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM