โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คือ การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ ที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือบางคนอาจจะแข็งตัวได้ไม่นานพอ ทำให้มีปัญหาทางกายและจิตใจตามมา เช่น ความมั่นใจในตัวเองลดลง มีปัญหาเรื่องชีวิตคู่ หรือ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเวลาที่จะมีกิจกรรมทางเพศ
การแข็งตัวขององคชาตมีด้วยกัน 3 กลไก ได้แก่
- การแข็งตัวเวลานอนหลับ (Nocturnal Erection) เวลานอนหลับองคชาตจะมีการแข็งตัวคืนละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที
- การแข็งตัวจากจิตใจ (Psychogenic Erection) เมื่อมีความต้องการทางเพศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้น คำสั่งจะส่งจากสมองมายังแกนสมองส่วนที่เรียกว่า พาราเวนทริคูลาร์นิวเคลียสที่อยู่บริเวณไฮโปทาลามัส จากนั้นคำสั่งจะผ่านไขสันหลังลงมายังศูนย์กลางการแข็งตัวขององคชาตบริเวณไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและผ่านเส้นประสาทคาร์เวอนัส (Cavernous Nerve) ที่มากระตุ้นให้เส้นเลือดในองคชาตมีการขยายตัว เลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้องคชาตแข็งตัว
- การแข็งตัวจากรีเฟล็กซ์ (Reflexogenic Erection) เมื่อมีการกระตุ้นหรือสัมผัสบริเวณองคชาตก็จะมีสัญญาณผ่านจากเส้นประสาทที่องคชาต (Dorsal Nerve) ไปยังศูนย์กลางการแข็งตัวที่ไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและส่งสัญญาณกลับมายังองคชาต (Cavernous Nerve)
ลักษณะอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
- แบบปฐมภูมิ คือการที่องคชาตไม่เคยแข็งตัวเต็มที่ หรือไม่แข็งพอที่จะทำให้ร่วมเพศสำเร็จเลย
- แบบทุติยภูมิ คือการที่องคชาตเคยแข็งตัวและร่วมเพศได้มาก่อน แต่ต่อมาเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข็งตัวเหมือนเดิม
- แบบชั่วคราว คือการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรณีนี้ หากพบปัญหาและรีบรักษาแต่เนิ่นๆ สามารถหายเป็นปกติได้
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- อาการน้อย คือ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง
- อาการปานกลาง คือ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จประมาณครึ่งหนึ่ง
- อาการรุนแรง คือ แทบจะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเลย
สาเหตุที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความผิดปกติที่กลไกใด ๆ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ อันได้แก่
- ความล้มเหลวในการเริ่มต้น (Failure to Initiate) อันมีสาเหตุจากปัญหาทางจิตใจ เนื้อเยื่อประสาท และฮอร์โมน
- ความล้มเหลวในการแข็งตัว (Failure to Fill) เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดแดง
- ความล้มเหลวในการคงการแข็งตัวไว้ (Failure to Store) จากความผิดปกติของเส้นเลือดดำ ทำให้เกิด Venous Leakage
กลุ่มเสี่ยงโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
อุบัติการณ์ในการเกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศพบมากขึ้นตามอายุ โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 40-49 , 50-59, 60-70 ปี จะพบโรคนี้ได้ร้อยละ 20.4, 46.3, 73.4 ตามลำดับ ซึ่งภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคซึมเศร้า
- ดื่มสุรา สูบบุหรี่
- ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดหลัง ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผ่าตัดท่อปัสสาวะ
- มีอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน และที่อวัยวะเพศ
- ทานยาบางชนิด เช่น ยาโรคความดันโลหิตสูงบางตัว ยาโรคจิตเภท ยาโรคซึมเศร้า ยาต่อมลูกหมากบางตัว เป็นต้น
ผู้ชายจะเสื่อมสมรรถภาพเมื่ออายุเท่าไหร่
- ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี – พบประมาณ 5 %
- ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี – พบประมาณ 50 %
ทำอย่างไร ให้สมรรถภาพทางเพศไม่เสื่อมเร็ว
- หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ และอาหารไขมันสูง
- ควบคุมโรคที่เป็นอยู่แต่เนิ่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- บำรุงร่างกาย และจิตใจให้ผ่องใส แข็งแรง ลดความเครียด หาวิธีกำจัดความเครียดที่ได้ผลกับตนเอง เช่น ร้องเพลง เต้นรำ อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว เข้าสปา นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ฯลฯ
- ออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบหมู่ เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืช พักผ่อนให้เพียงพอ มีเวลาดูแลตนเอง ได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ ทำชีวิตให้มีคุณค่า
- เปลี่ยนบรรยากาศในการมีเพศสัมพันธุ์บ้าง เช่น เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนท่าที่จำเจ
- มีสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ครองหรือคนรัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรับฟัง พูดคุย ปรึกษาหารือกันเป็นประจำ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
- พบแพทย์ หากไม่สามารถแก้ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ด้วยตนเอง เพื่อตรวจหาสาเหตุและข้อแก้ไขต่อไป
เสื่อมสมรรถภาพทางเพศรักษาได้ อย่างไร?
เริ่มจากการตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ เช่น เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับ และไต และในรายที่ความต้องการทางเพศลดลง หรือได้รับการตรวจร่างกายแล้วพบว่าลูกอัณฑะมีขนาดเล็ก ต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย การรักษาจะเริ่มจากวิธีรักษาง่ายๆ เช่น ยารับประทาน รวมไปถึงใช้อุปกรณ์เข้าช่วย อย่างการใช้ปั๊มสูญญากาศ ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะใช้ยาฉีด หรือการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม หรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน โดยแพทย์จะให้การอธิบายวิธีรักษาแต่ละชนิด พร้อมข้อดี ข้อเสียแก่ผู้ป่วยทราบ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลเปาโล
– โรงพยาบาลสมิติเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM