การถ่ายเป็นเลือด เป็นลักษณะอาการที่มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทวารหนัก ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดหรือลิ่มเลือดปนอยู่ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีแดงเข้ม สาเหตุหลักที่มักทำให้ถ่ายเป็นเลือดเกิดจากความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ หรือบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวารหนัก ซึ่งการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นจุดเริ่มต้นของโรคที่อาจมีความรุนแรงมากกว่าโรคริดสีดวงทวารได้
จะสังเกตอย่างไรว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
เบื้องต้นให้สังเกตสีของอุจจาระของตัวเองทุกวัน มีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปหรือ หากมีภาวะอุจจาระปนเลือด หรือถ่ายดำ อาจเกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก แต่หากเลือดออกลำไส้ใหญ่ จะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด หรือไม่มีอาการชัดเจน แต่อาจมีอาการอื่นๆ แทน เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เหนื่อยง่ายเป็นต้น มักเกิดในผู้สูงอายุ
อาการถ่ายเป็นเลือด เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนัก และเนื้องอก/มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บางครั้งมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะถ้ามีอาการดังนี้ ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนและนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม (เพราะในปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น คนที่มีอายุน้อยก็สามารถเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน)
- ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
- มีภาวะซีดร่วมด้วย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
- รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา
- มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
- ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักลดลง
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด บ่งบอกโรคอะไร
การถ่ายเป็นเลือดสามารถเป็นอาการของโรคได้หลายโรค ไม่เฉพาะเพียงแต่ริดสีดวงทวารเท่านั้น โดยโรคที่อาจทำให้มีอาการถ่ายเป็นเลือด ได้แก่
- ริดสีดวงทวาร การถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก ท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางคนที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่งอย่างมาก หลังจากนั้นเวลาขับถ่ายก็จะมีเลือดออกมาเป็นหยดหลังการถ่าย หรือมีเลือดเปื้อนทิชชู่ตอนเช็ดทำความสะอาด ส่วนอุจจาระเป็นสีปกติ บางคนไม่รู้สึกเจ็บปวด อาการจะเป็นแบบเป็นๆ หายๆ แต่บางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
- ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งมีอาการสำคัญคือถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาต่อไป
- เลือดออกในทางเดินอาหาร มีทั้งทางเดินอาหารส่วนบน โดยอุจจาระจะมีสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นคาว และเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยจะเป็นเลือดสดปนกับอุจจาระ
- ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยติ่งเนื้องอกนี้เกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม สีออกชมพู อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งจะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยแพทย์มักแนะนำให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้ป่วยจะขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนมาหาหมอเพราะเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง ส่วนมากจะพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ตรง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
- โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ เกิดจากเส้นเลือดเส้นเล็กๆ มีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายมีเลือดออกมาด้วยทั้งแบบก้อนและแบบน้ำเลือด โดยไม่มีอาการปวดท้อง โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเลือดจะหยุดได้เอง แต่ก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ เพราะอาการที่เกิดขึ้นมักแยกไม่ออกจากโรคอื่น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิติเวช
– โรงพยาบาลพญาไท
– โรงพยาบาลนครธน
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM