เริมที่ปาก เป็นบ่อยทำไงดี? 

“เริม” เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่อาจไม่รุนแรง แต่เมื่อติดเชื้อแล้วกลับสร้างผลกระทบได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการเป็นเริมที่ปาก ที่นอกจากจะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ อาย ไม่กล้าเจอใครเพราะกลัวโดนทักทุกครั้งที่ปากเป็นเริม และน้อยคนที่จะรู้ว่าการเป็นเริมที่ปากควรจะต้องดูแลตนเองยังไง ทำให้หลาย ๆ คน ยังคงวนเวียนอยู่กับการเป็นเริมที่ปากบ่อยมาก ทรมานกับอาการคันและแสบร้อนเป็นประจำ

สาเหตุของ เริมที่ปาก
เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus หรือ HSV ประเภทที่ 1  ติดเชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ที่มีเชื้อ หรือเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล    โดยเชื้อเริมนี้ อาจใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนกว่าจะแสดงอาการ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และอ่อนแอลง

หลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าการที่ปากเป็นเริม สาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง จึงทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • สัมผัสกับเชื้อไวรัสเริมโดยตรง เช่น การสัมผัสผิวหนัง บาดแผล น้ำลาย น้ำเหลือง 
  • หากคู่ของเรามีเชื้อเริม การสัมผัส จูบ หรือการร่วมเพศทางปาก (oral sex) ก็อาจทำให้ติดเชื้อเริมที่ปากได้เช่นกัน
  • ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนที่มีเชื้อไวรัสเริม เช่น แก้วน้ำ เครื่องสำอาง มีดโกน แปรงสีฟัน ช้อนส้อม
  • กรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ หากคนที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับเชื้อเริม ก็จะมีโอกาสที่ในระหว่างการคลอด ทารกจะได้รับเชื้อเริมไปด้วย ซึ่งกรณีนี้ควรแพทย์ผู้ชำนาญการ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ลักษณะเริมที่ปากของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นด้วย แต่โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะให้สังเกตได้ ดังนี้

  • ลักษณะของรอยโรคนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก
  • มักเกิดขึ้นเรียงตัวกันเป็นกลุ่มประมาณ 2-10 เม็ด 
  • บริเวณที่เกิดเริมมักอยู่รอบๆริมฝีปาก บนริมฝีปาก หรือขอบริมฝีปาก และสามารถพบได้ภายในช่องปาก ลิ้น หรือบนใบหน้าได้เช่นกัน

อาการของเริมที่ปาก

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก หรือคันยุบยิบ
  • หลังจากนั้นจะมีตุ่มพองใสๆ ลักษณะคล้ายพวงองุ่นปรากฏขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งริมฝีปากบนหรือล่างและในช่องปาก 
  • ปากเป็นแผลบวมแดง และรู้สึกเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจมีอาการไข้ร่วมด้วย 
  • ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อาการเหล่านี้อาจกินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้จนกว่าแผลจะหายหมด

ระยะของเริมที่ปาก

ระยะที่ 1 – รู้สึกระคายเคือง หรือคันบริเวณริมฝีปาก ก่อนการเกิดแผล 

ระยะที่ 2 –  มีแผลพุพอง หรือตุ่มใสๆ เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก ซึ่งจะปรากฎอยู่ประมาณ 48 ชั่วโมง 

ระยะที่ 3 –  มีแผลพุพองเยอะขึ้น และรู้สึกแสบร้อน เจ็บปวดมากกว่าเดิม ภายใน 72-96 ชั่วโมง ตุ่มทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มหนอง และแตกออก

ระยะที่ 4 – แผลในระยะที่ 3 เริ่มแห้งและตกสะเก็ด ประมาณ 7-10 วัน 

ระยะที่ 5 – แผลตกสะเก็ดเริ่มหายดี และไม่แสดงอาการใดๆ

วิธีรักษาโรคเริมที่ปาก

การรักษาโรคเริมที่ปากสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการการรักษาด้วยตัวเองที่บ้านประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง หรือน้ำเย็น การใช้ยาสมุนไพรอย่างว่านหางจระเข้ในการลดอาการปวดแสบปวดร้อน รวมถึงใช้เสลดพังพอนตัวเมียในการทำให้ตุ่มหายไวขึ้น และการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็จะช่วยลดความรุนแรงของแผลลง แผลจะหายได้เร็วยิ่งขึ้น

ยาที่ใช้รักษาโรคเริม

ยาที่ใช้รักษาโรคเริมจะเป็นยาภายนอกที่ใช้เพื่อต้านไวรัส และให้ผลดีในการลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็ว เช่น  ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมซิโคลเวียร์ (Famcyclovir) และ ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งควรที่จะทายาตั้งแต่ช่วงที่มีอาการนำก่อนที่จะเกิดเป็นตุ่มน้ำที่ริมฝีปากนั้นจะช่วยลดระยะเวลาที่เป็นตุ่มน้ำให้สั้นลงได้ดี

วิธีป้องกันไม่ให้เริมที่ปากกลับมากวนใจบ่อย ๆ

  • แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเราดูแลตัวเองดี ๆ ดังนี้ ก็อาจไม่เป็นเริมที่ปากอีกเลย 
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อทำออรัลเซ็กส์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียดเกินไป
  • กินอาหารที่มีไลซีนสูง เช่น เนื้อปลา นม ถั่วต่าง ๆ เพราะมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคเริมที่ปากได้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเปาโล
– mordeeapp.com
– safeclinic
– bedee.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี