โรคเอดส์ (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมะเร็งบางชนิด ปัจจุบัน การรักษา HIV มีความก้าวหน้า สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็ว มียาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูงที่ให้ผลดีในการรักษา ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

โรคเอดส์ (AIDS) เกิดจากอะไร?
โรคเอดส์ (Immune deficiency syndrome: AIDS) เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV) ในร่างกาย และมีการดำเนินโรคไปแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เชื้อ HIV จึงพัฒนาสู่โรคเอดส์เต็มขั้น เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้ไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอในการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคเฉียบพลัน โรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มีความรุนแรง และยากแก้การรักษา

โรคเอดส์เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลรีโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นแบบอาร์เอ็นเอ (RNA) รีโทรไวรัสมีคุณสมบัติพิเศษ คือการเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตนเองให้เป็น DNA ของเซลล์โฮสต์ได้ จากนั้นจะแทรกแซงการทำงานในโครโมโซมของเซลล์โฮสต์และป้อนคำสั่งแทนที่ DNA ของเซลล์โฮสต์ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ

โรคเอดส์มีกี่ระยะ สังเกตได้ยังไงบ้าง?
แบ่งเป็น 4 ระยะ ในระยะแรก 1-2 ยังไม่นับว่าเข้าข่ายเป็นโรคเอดส์แต่เป็นระยะติดเชื้อเอชไอวี HIV เท่านั้น

  1. ระยะเฉียบพลัน ระยะรับเชื้อเข้ามาใหม่บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่บางรายอาจมีอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ถ่ายเหลว และเป็นผื่น ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเอง
  2. ระยะแฝง เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่สามารถแพร่เชื้อได้
  3. ระยะมีอาการ เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย น้ำหนักลด มีฝ้าขาวในปาก และมีไข้เรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์
  4. ระยะโรคเอดส์ ระยะสุดท้ายภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายลงไปมาก อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อราขึ้นในสมอง เชื้อราในปอด หรือวัณโรค เป็นต้น

โรคเอดส์ ติดต่อได้อย่างไร?
โรคเอดส์ สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งในร่างกาย ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำเหลือง สารหล่อลื่นตามธรรมชาติในช่องคลอด อวัยวะเพศชาย หรือทวารหนัก และน้ำนมแม่ โรคเอดส์ และเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันผ่านพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โดยมีการสอดใส่ระหว่างอวัยวะเพศชาย-หญิง ทางทวารหนักระหว่างชาย-ชาย หรือระหว่างหญิง-หญิงที่มีการสัมผัสกับสารหล่อลื่นในช่องคลอด ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HIV ในผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกเกินกว่าร้อยละ 80
  • การใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยมักพบพฤติกรรมดังกล่าวในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดโดยการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  • การติดเชื้อ HIV ผ่านการสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองจากบาดแผลเปิดภายนอกผิวหนัง หรือแผลในช่องปาก รวมถึงการใช้ของใช้ส่วนตัวที่มีลักษณะเป็นของมีคมร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ HIV เช่น เข็มสักผิวหนัง เข็มสักคิ้ว กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน เข็มเจาะอวัยวะ เช่น เข็มเจาะหู หรือเข็มเจาะสะดือ
  • การติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ ในระหว่างการคลอดบุตร และการให้นมบุตร
  • การรับเลือดบริจาคที่ปนเปื้อนเชื้อ HIV ที่ไม่ผ่านการคัดกรองเชื้อมาก่อน โดยแทบไม่พบแล้วในปัจจุบันเนื่องจากกระบวนการตรวจสอบที่มีมาตรฐานหลายขั้นตอน

การวินิจฉัย HIV และโรคเอดส์
การตรวจวินิจฉัยเอชไอวี (HIV) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ และรับยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว จะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสพัฒนากลายไปเป็นโรคเอดส์ได้ในอนาคต ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัย HIV ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเร็ว มี 3 ประเภท ได้แก่

  1. การตรวจสอบแอนติเจน/แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Antigen/antibody tests) เป็นการตรวจสอบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า p24 ( p24 antigen testing) และตรวจหาแอนติบอดี้ของร่างกายในคราวเดียวกัน โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 18-45 วันแรก ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายจะยังไม่สร้างแอนติบอดี้เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส จึงทำให้ไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการอื่น ๆ
  2. การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV antibody tests) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อ HIV เพื่อตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในร่างกาย พร้อมกับตรวจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV ที่สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 23-90 วันแรก
  3. การตรวจหาสารทางพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic acid tests: NATs) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส HIV โดยเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสในเชิงปริมาณ (Viral load assays) ทั้งก่อนและหลังรับการรักษาเพื่อติดตามประเมินผลการรักษา อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีการนี้จะไม่สามารถใช้เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV และไม่สามารถใช้ตรวจทารกที่มารดาติดเชื้อ HIV ได้ การตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยวิธีการนี้ สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 10-33 วันแรก

การป้องกันโรคเอดส์ และ HIV
โรคเอดส์ และการติดเชื้อ HIV สามารถป้องกันได้โดยโดยการลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดเชื้อ HIV แล้วควรป้องการตนเองไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยวิธีการป้องกันโรคเอดส์ และการติดเชื้อ HIV มีดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • หากมีแผลเปิดที่มีเลือดไหล ควรทำความสะอาดและปิดแผลให้สนิท
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
  • พบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส HIV ทันทีที่สงสัยว่าอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV หรือก่อนการสัมผัสกับเชื้อ HIV
  • ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์ที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ได้แก่ วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผนังหลอดเลือด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเม็ดเลือดขาว และภาวะโลหิตเป็นพิษ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– medparkhospital
– โรงพยาบาลวิมุต
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี