ติดเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์

HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4 cells) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่าง ๆ เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลายจนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีโจมตีจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้และก่อให้เกิดโรคเอดส์ในที่สุด แต่ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อเอชไอวีมานานหลายปีอาจไม่มีอาการของโรคเอดส์เลย ในขณะที่บางรายอาจพัฒนาเป็นโรคเอดส์อย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยจากโภชนาการที่ไม่ดี อายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ หรือติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ตับอักเสบซี เป็นต้น

HIV คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งย่อมากจาก (Acquired Immunodeficiency Syndrome) ซึ่งเอชไอวี และโรคเอดส์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่ในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อกินยาเร็ว กินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่นด้วย

เชื้อเอชไอวี จะมีอยู่ในน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด เลือด และน้ำนม โดยเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล หรือผ่านเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ภายในช่องคลอด ทวารหนัก และรูเปิดของอวัยวะเพศชาย

เชื้อเอชไอวี จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันมากที่สุด การใช้ถุงยางอนามัย และ/หรือ แผ่นยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น จะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้

เชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ คลอด หรือให้นมบุตรได้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องรับประทานยาเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวี ไปยังลูก

เชื้อเอชไอวี ไม่ติดต่อผ่านน้ำลาย ดังนั้นคุณจะไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านการจูบ การกินอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน หรือ การใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รวมไปถึงการกอด การจับมือ การไอ การจาม การใช้ห้องน้ำร่วมกัน ก็ไม่ใช่ช่องทางติดต่อของเชื้อเอชไอวี

สาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด

  1. มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  2. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสัก เข็มเจาะร่างกายร่วมกัน
  3. โดนเข็มตำ โดยเข็มนั้นมีเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวี ปนเปื้อนอยู่
  4. เลือด น้ำอสุจิ หรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอดที่มีเชื้อเอชไอวี ปนอยู่ สัมผัสกับแผลเปิดบนร่างกาย

อาการหลังติดเชื้อเอชไอวี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเฉียบพลัน คือระยะที่รับเชื้อมาแล้ว 2 – 4 สัปดาห์ โดยเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนเซลล์ CD4 ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ มีผื่น หรือต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งในระยะเฉียบพลันนี้มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น
  2. ระยะสงบทางคลินิก จะไม่แสดงอาการอะไรเลยหรืออาจแสดงอาการเหมือนกับระยะเฉียบพลัน แต่จะเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยระยะนี้เชื้อไวรัสจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและทำลายภูมิคุ้มกัน (CD4) ทำให้ภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลง อาจอยู่ในระยะนี้นานถึง 10 ปี
  3. ระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง ปริมาณเซลล์ CD4 ต่ำกว่า 200 จากที่คนปกติจะมี 500 – 1,600 ทำให้ผู้ป่วยในระยะนี้ติดเชื้อชนิดอื่นได้ง่าย โดยผู้ป่วยเอดส์จะมีอาการปอดอักเสบ เหนื่อยหอบง่าย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ท้องเสียเรื้อรัง เป็นไข้ซ้ำ ๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน เกิดผื่นคันตามผิวหนังเกิดฝ้าขาวในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้และขาหนีบบวมโต ติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค เชื้อราในปอด(PCP) เชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง

การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

แพทย์จะใช้ยาต้านรีโทรไวรัส หรือ ARV ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งและต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นด้วย การทานยาเร็วทำให้โรคไม่พัฒนาไปสู่ขั้นเอดส์ และยังช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายและโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV เช่น มะเร็งบางชนิด

HIV ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอดส์ได้

  1. การยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสพัฒนาสู่ระยะของโรคเอดส์ คือหลักการสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV การรับการตรวจวินิจฉัยโรคเร็วเมื่อสัมผัสกับความเสี่ยงและรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันร่างกายคงที่ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว มีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และช่วยให้ใช้ชีวิตตามปกติได้
  2. ในปัจจุบัน โรคเอดส์ยังไม่พบวิธีการรักษาให้หายขาด การตรวจเลือดเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือเมื่อสัมผัสกับความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ HIV สาเหตุสำคัญของโรคเอดส์ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน หรือโรคฉวยโอกาสจากโรคเอดส์ ควรเข้ารับการรักษาโรคแบบองค์รวมเป็นระบบ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์การรักษาโรคซับซ้อน หรือโรคเฉียบพลันร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น และเพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวได้
  3. ดังนั้น หากกังวลว่าตัวเองอาจได้รับเชื้อเอชไอวี ควรรีบตรวจเลือดหาเชื้อและรับประทานยา ARV สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ป้องกันภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV สูง ก็สามารถรับประทานยา ARV เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ ในระยะช่วงที่มีความเสี่ยงโดยเรียกว่า PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานยาป้องกัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเวชธานี
– คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
– มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี