โรคหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อฮิวแมนแปบปิโลมาไวรัส (Human papilloma virus) หรือเรียกสั้นๆว่า HPV โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กมักมีอาการที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ในผู้ใหญ่พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ คือ ในช่วงอายุ 16-25 ปี เชื้อชนิดนี้ชอบอยู่บริเวณที่อับชื้น ทำให้เกิดรอยโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์
ตำแหน่งที่พบ
- ในผู้หญิง พบได้ที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูกทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ หูดจะเริ่มจากขนาดเล็กๆและโตขึ้นเรื่อยๆ การตั้งครรภ์จะทำให้หูดโตเร็วกว่าปกติ
- ในผู้ชาย มักพบใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง และรูเปิดท่อปัสสาวะ และอาจพบบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ในทารกที่คลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีหูดหงอนไก่ อาจจะทำให้เกิดโรคซึ่งมีอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่เสียงแหบจนถึงมีการอุดกั้นของกล่องเสียง
การรักษาหูดหงอนไก่
การรักษาส่วนใหญ่เพื่อเป็นการบรรเทาอาการ โดยหากภูมิคุ้มกันของร่างกายดีโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลา การรักษานั้นทำได้หลายวิธี เช่น
1. การจี้ด้วยสารเคมี เช่น 80% กรดไตรคลอโรอะเซติค (Trichloroacetic acid) และ 25% โพโดฟิลลีน (Podophyllin) จี้บริเวณที่เป็นหูดโดยบุคลากรทางการแพทย์สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันทุกสัปดาห์จนหาย ถ้า รักษาติดต่อกันเกิน 6 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น หลังจี้ยาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ถูกจี้โดนน้ำ
2. การใช้ยาทาบริเวณที่เป็นหูด เช่น 5% อิมิควิโมดครีม (5% Imiquimod cream) จะช่วยลดปริมาณไวรัสทำให้หูดหายไปและยังช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรค อีกทั้งสะดวกในการใช้เพราะผู้ป่วยสามารถนำกลับไปทา เองที่บ้านได้ แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง
3. การผ่าตัด ทำได้หลายวิธี คือ
3.1 การจี้หรือการตัดออกด้วยไฟฟ้า
3.2 การจี้หรือตัดออกโดยใช้ความเย็นจัด
3.3 การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ มักใช้รักษาหูดที่มีขนาดใหญ่
วิธีการป้องกัน
การป้องกันคือ การมีคู่นอนคนเดียวหรือให้น้อยที่สุด ถุงยางอนามัยไม่สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อไวรัสHPVได้ เพราะเชื้อนี้สามารถกระจายอยู่ได้ทั่วไป ตั้งแต่รอบทวารหนัก ฝีเย็บ หัวหน่าว เป็นต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่ถุงยางอนามัยครอบคลุมไม่ถึง การสัมผัสอวัยวะเพศภายนอกด้วยวัตถุ หรืออวัยวะที่มีเชื้อไวรัสHPVนี้ก็ยังคงสามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้
ปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันการเกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ ซึ่งร้อยละ 90 ของหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสHPV ชนิด 6,11 โดยวัคซีนทีป้องกันหูดหงอนไก่ได้อยู่ในรูปวัคซีนHPVชนิดที่มี 4 สายพันธ์ สายพันธ์ 6,11,16,18 และ 9 สายพันธ์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ยังสามรถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนักได้อีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลศิริราช
– คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM