ยา Imiquimod (อิมิควิโมด) วิธีการใช้รักษาหูดหงอนไก่

ยา Imiquimod (อิมิควิโมด) หรือยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จัก คือ ‘Aldara’ (อัลดารา) ถูกใช้เป็นยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ตอบสนองต่อการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของผิว หนัง ใช้รักษา โรคหูด โรคหูดหงอนไก่ และ บำบัดรักษามะเร็งผิวหนังบางชนิด คือ ชนิดSuperficial Basal Cell Carcinoma ยานี้ยังกระตุ้นการสร้างสาร Opioid Growth Factor Receptor ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ

ยา Imiquimod (อิมิควิโมด) ถูกขึ้นทะเบียนตำรับยา ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) รูปแบบของสูตรตำ รับยาที่สามารถพบเห็น จะเป็นยาครีมใช้ทาภายนอกและทาเฉพาะที่ ซึ่งด้วยวิธีการใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของโรค ดังนั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ความดูแลและคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ข้อบ่งใช้ของยา Imiquimod (อิมิควิโมด)เช่น

  • ใช้บำบัดรักษา โรคหูด โรคหูดหงอนไก่ ที่ขึ้นในบริเวณผิวหนังอ่อน เช่น ปลายอวัยวะเพศ, รูทวารหนัก
  • ใช้บำบัดรักษามะเร็งผิวหนังบางชนิดในระยะที่โรคเริ่มก่อตัว เช่น Actinic keratosis, Superficial basal cell carcinoma, Superficial squamous cell carcinoma, และบางชนิดของ Superficial malignant melanoma

ยา Imiquimod (อิมิควิโมด)มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอิมิควิโมด มีกลไกการออกฤทธ์โดยจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กายสร้างสารที่เรียกว่า อินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ที่ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของหูด ยานี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโดยตรง แต่มีผลทางอ้อมโดยอินเตอร์เฟอรอนที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวควบคุมการขยายพันธุ์ของไวรัสหูดอีกทีหนึ่ง

ยา Imiquimod (อิมิควิโมด)มีการจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาครีม ขนาดความแรง 5%

วิธีการใช้ ยา Imiquimod (อิมิควิโมด)

1. รักษาหูด: ใช้ทาบริเวณที่เป็น หูด หูดหงอนไก่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยทายาสลับวันกัน เช่น จันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นต้น ควรทาก่อนนอนและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 6 – 10 ชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมผ่านทางผิวหนัง

ห้ามใช้เทปหรือพลาสเตอร์ปิดทับบริเวณที่ทายา นอกจากแพทย์จะอนุญาต และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่คับและแนบกระชับในบริเวณที่มีการทายา หากมีความจำเป็นให้แนะนำคนไข้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าฝ้าย หลวมสบาย

2. รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Actinic Keratosis: ทายา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยสลับวันกัน ให้ทาก่อนนอนและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมง หลังการรักษาผ่านไปประมาณ 4 สัปดาห์ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทายาซ้ำอีกหรือไม่

3. รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Superficial Basal Cell Carcinoma: ทายาวันละ 1 ครั้ง, 5 วันติดต่อกันภายในสัปดาห์ และควรรักษาต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์

คำเตือนในการใช้ยา Imiquimod (อิมิควิโมด)

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยา Imiquimod อาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำก่อนการเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการรักษาใด ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง ภาวะเซลล์ของผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ของผู้ป่วยหรืออาการร่างกายต่อต้านอวัยวะปลูกถ่ายในผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีประวัติการปลูกถ่ายไขกระดูก ปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ หรือการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หากไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาทาชนิดอื่นในบริเวณเดียวกับที่ทายาชนิดนี้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาชนิดอื่น
  • ยา Imiquimod ไม่มีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี เอชพีวี โรคซิฟิลิส หรือหนองใน เป็นต้น
  • การใช้ยานี้บริเวณอวัยวะเพศอาจลดประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยและอุปกรณ์คุมกำเนิดรูปแบบอื่นที่ทำจากยาง ซึ่งอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ห้ามทายานี้บริเวณที่เป็นแผลไหม้ พุพอง ถลอก หรือระคายเคือง หากต้องการใช้ยาควรรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณนั้น ๆ ให้หายก่อน
  • หลีกเลี่ยงการทายาบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก จมูก และระมัดระวังไม่ให้ให้ยาสัมผัสกับผิวด้านในอวัยวะเพศหญิง ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้
  • หลังจากใช้ยาชนิดนี้ควรล้างมือให้สะอาด เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหากสัมผัสกับผิวหนังบริเวณอื่น และหลีกเลี่ยงส่วนที่ทายาไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่นด้วย
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่ใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา
  • การใช้ยานี้ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดด สวมเสื้อและกางเกงขายาว รวมทั้งใช้ครีมกันแดดที่มี SPF สูง
  • ห้ามหยุดยาหรือปรับปริมาณยาเองโดยไม่ได้รับคำอนุมัติจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาตัวเดียวกันที่มีในยี่ห้ออื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาเกินขนาด
  • หากใช้ยานี้ในระยะยาวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้ จึงควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Imiquimod สามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Imiquimod (อิมิควิโมด)

การใช้ยา Imiquimod อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวหนังบวม แดง แสบร้อน ผิวแห้งลอก เป็นขุย ตกสะเก็ด ผิวบริเวณที่ทายาอาจด้าน หนา หรือนิ่มกว่าส่วนอื่น สีผิวอาจเปลี่ยนไปชั่วคราวหรือถาวร เวียนและปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย และเป็นไข้หวัด เป็นต้น ซึ่งหากอาการเหล่านี้ยังไม่ทุเลาลงหรือมีอาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงหลังจากการใช้ยา Imiquimod ดังต่อไปนี้ ควรล้างยาออกและรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ ผื่นขึ้นตามร่างกาย ลมพิษ หายใจไม่ออก เป็นต้น
  • อาการจากการได้รับยาเกินขนาด เช่น หายใจติดขัด เวียนศีรษะ ผิวหนังระคายเคืองอย่างรุนแรง เป็นต้น
  • ผิวหนังเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีเลือดออก เป็นแผลกดทับ แผลพุพอง หรือแผลเปื่อย เป็นต้น
  • อาการของไข้หวัด เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดความร่างกาย รู้สึกเหนื่อยล้า และต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง
  • คันบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีตกขาว

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
–  เว็บpobpad.com
– เว็บ haamor.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHAR

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี