คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สบาย เป็นหวัด ทานยาอะไรได้บ้าง

ความเจ็บป่วยระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ใช่แค่สุขภาพของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าตัวเล็กในครรภ์ด้วย หากคุณแม่ป่วยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยในครรภ์จะปลอดภัยมากที่สุด

ยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ได้ในช่วงที่เป็นหวัด ไม่สบาย 
หากอาการไม่ดีขึ้น คุณแม่สามารถใช้ ยาสามัญประจำบ้าน บางชนิดได้ แต่ต้องใช้ตามปริมาณที่ฉลากแนะนำในช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบคุณหมอ ไม่ควรซื้อยาชุดมารับประทานเองเด็ดขาด 

นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ยังมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรง เช่น ไข้เลือดออก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคโลหิตจาง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอเท่านั้น

โดยสรุป หากมีอาการปวดหัว  ตัวร้อน  เป็นหวัด  คัดจมูก  มีน้ำมูกไหล  เจ็บคอ   ยาที่เลือกทานได้อย่างปลอดภัยในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์   และตลอดการตั้งครรภ์ก็คือ

  1. พาราเซตตามอล  :  แก้ปวด  ลดไข้
  2. คลอเฟนนิรามีน  :  แก้คัดจมูก  ลดน้ำมูก
  3. เด๊กซ โตรเมโทรฟาน :  ยาแก้ไอ ( ไอแห้ง ๆ )
  4. Acetylcysteine , Bromhexine  : ยาละลายเสมหะ
  5. เพนนิซิลลิน : ยาปฏิชีวนะสำหรับทั้งการอักเสบติดเชื้อทางเดินหายใจ  ช่องปาก ทางช่องหู  ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ทางช่องคลอด และทางผิวหนัง
  6. ผงเกลือแร่ ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่

ยาอันตราย คุณแม่ตั้งครรภ์ “ห้าม” ทาน
ในจำนวนยารักษาโรคต่าง ๆ มียาจำนวนมากที่ไม่ควรใช้ขณะตั้งครรภ์หรือใช้ขณะตั้งครรภ์ หรือใช้ภายใต้การดูแลของคุณหมอ เช่น

  • กลุ่มยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ
  • กลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น ยาแอสไพริน ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • กลุ่มยาแก้ไอ และยาขยายหลอดลม
  • กลุ่มยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • กลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาเบาหวาน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยาสเตียรอยด์ทุกชนิด
  • ยากันชัก
  • ยารักษาสิว

นอกจากนี้ เหล่าคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาหลาย ๆ ตัวผสมกัน แต่ให้ใช้ยาเพียงตัวเดียว รักษาไปทีละอาการจะดีกว่า

เป็นหวัดตอนตั้งครรภ์ ดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร  
นอกจากการกินยาอย่างเหมาะสม ยังมีวิธีดูแลรักษาตัวเองที่บ้านเพื่อช่วยให้หายป่วยไวขึ้น และยังไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย เช่น 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนเพลีย
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะในช่วงที่เป็นไข้หวัด มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก สารน้ำในร่างกายจะออกจากร่างกายมากกว่าปกติ
  • หมั่นกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ อยู่เสมอ หากมีอาการไอหรือเจ็บคอ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามปกติ เน้นผักสดและผลไม้สด เพื่อเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุ
  • ไม่ต้องอดอาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น
  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หากมีไข้ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นธรรมดา ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ยารักษา

อย่างไรก็ตาม หากอาการหวัดแย่ลง ให้ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หยอดจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อลดอาการคัดจมูก บรรเทาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อในจมูก
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายขับความร้อนออกมาผ่านปัสสาวะ อาการไข้จะได้ลด
  • เปลี่ยนจากการพักอยู่ในห้องแอร์ ไปอยู่ในที่ที่แสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ควรอยู่ในที่แออัด มีผู้คนมาก เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคอื่น ๆ ได้มากกว่าเดิม
  • ทำให้อุณหภูมิรอบ ๆ ตัวมีความอุ่นชื้นเพียงพอเสมอ อาจใช้เครื่องเพิ่มไอน้ำ หรือสูดไอน้ำร้อนเพื่อให้จมูกโล่ง และหายใจสะดวกขึ้น
  • ดื่มน้ำอุ่น รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่อุ่นร้อน เพื่อลดอาการอักเสบในลำคอ ลดเสมหะ และอาการคัดจมูก
  • ประคบร้อน หรือประคบเย็น เพื่อลดอาการปวดในโพรงจมูก

เป็นหวัดตอนตั้งครรภ์ แบบไหนต้องไปพบแพทย์ 
หากตั้งครรภ์และมีอาการไข้หวัดในลักษณะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มึนศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • สับสน
  • อาเจียนอย่างรุนแรง
  • ใช้ยาพาราเซตามอลแต่ยังมีไข้สูง อาการไม่ดีขึ้น
  • ทารกเคลื่อนไหวลดลง

เป็นหวัดตอนตั้งครรภ์ ป้องกันได้  

  • ดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาด หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธี โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะมา
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้วิตามินและแร่ธาตุเพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่กับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ดี เช่น ส้ม อะโวคาโด ฝรั่ง แอปเปิล ลิ้นจี่ แก้วมังกร กล้วย ทับทิม แตงโม
  • งดรับประทานอาหารรสจัด
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพยาเสพติดโดยเด็ดขาด 
  • ใส่เสื้อผ้าที่สบาย 
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่อาจปรึกษาแพทย์ด้วยว่า ควรออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะกับอายุครรภ์
  • อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ไม่ทำงานหนัก หรือทำงานหักโหมจนร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ไม่กลั้นปัสสาวะ
  • ลดใช้สารเคมีบางประเภท และอยู่ให้ห่างจากสารพิษบางชนิด เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาย้อมผม น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด
  • ไปตรวจครรภ์ตามนัดของแพทย์ทุกครั้ง รวมถึงหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วย
  • อย่าปล่อยให้ตนเองเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ควรรักษาสุขภาพจิตของให้ดีอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่แออัด เพราะตัวการที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดได้มากที่สุดคือการติดเชื้อไวรัสจากผู้อื่น อาจเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านแทนสักระยะ 

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ไม่ว่าจะไปฉีดวัคซีนใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็กน้อยในครรภ์


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
–  โรงพยาบาลเปาโล
– โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.C

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี