วิตามินซี มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากรับประทานมากเกินความจำเป็น อาจส่งผลให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิด “นิ่ว” มากขึ้นได้
อันตรายจากวิตามินซี หากกินมากเกินไป
สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย (Thai Dietetic Association) ระบุว่า วิตามินซีมีความเป็นพิษน้อย แต่มีงานวิจัยว่า การกินวิตามินซีในปริมาณสูงเกินกว่าที่กำหนด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นนิ่วที่ไตประมาณ 1.43 เท่า เทียบกับคนที่ได้รับวิตามินเสริมในระดับที่น้อยกว่า และบางคนที่กินวิตามินซีในปริมาณเยอะๆ ก็อาจมีอาการปวดมวนท้อง ท้องเสียตามมาได้
กินวิตามินซีอย่างไร ให้พอดีต่อร่างกาย
จากข้อมูลแนะนำปัจจุบัน ปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับในชายอยู่ที่ 100 มิลลิกรัมต่อวัย ผู้หญิง 85 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าป่วยไม่สบายพักฟื้นจากการผ่าตัด ต้องการที่ 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าจะเสริมวิตามินซี ก็อย่าให้เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามินซี สำคัญต่อร่างกายอย่างไร
วิตามินซี หรือ ascorbic acid เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อชีวิตและการมีสุขภาพดี มนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เองเนื่องจากไม่มีเอนไซม์ L-gulonolactone oxidase ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องได้รับวิตามินซีจากอาหาร
วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ลดการเกิด lipid peroxidation และ ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (nitrosamine) วิตามินซีมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน (collagen) คาร์นิทีน (carnitine) และสารส่งผ่านประสาท (neurotransmitter) มีบทบาทต่อเมตาบอลิสมของกรดอะมิโนและคาร์โบไฮเดรต ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก รวมถึงการเพิ่มภูมิต้านทาน ถ้ามีการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรงจะเกิดโรคลักปิดลักเปิด
อาหารที่มีวิตามินซี
วิตามินซีมาจากอาหาร อาจไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมเสมอไป วิตามินซีพบมากในผัก ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ มะละกอ ส้มโอ พริกหวาน คะน้า บรอกโคลี เป็นต้น
ประโยชน์ของวิตามินซี
- ช่วยสังเคราะห์คอลลาเจนในร่างกาย คอลลาเจนเป็นโปรตีนเส้นใยที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ ฟัน ผิวหนัง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การสร้างคอลลาเจนต้องการวิตามินซีเป็นตัวช่วยเพื่อให้การสังเคราะห์มีความสมบูรณ์ ถ้าร่างกายมีภาวะขาดวิตามินซี จะมีผลทําให้โครงสร้างของคอลลาเจนเปลี่ยนแปลงไป และเป็นสาเหตุที่ทําให้ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันมีความผิดปกติ แผลหายช้า มีอาการปวดตามข้อ เลือดออกตามไรฟันได้
- ช่วยสังเคราะห์คาร์นิทีน คาร์นิทีนมีบทบาทช่วยในการเผาผลาญไขมันให้เกิดพลังงาน ร่างกายได้รับคาร์นิทีนจากอาหาร และร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองจากกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) และเมไธโอนีน (methionine) และวิตามินซีจำเป็นสําหรับต่อกระบวนการสังเคราะห์คาร์นิทีน
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) วิตามินซีมีบทบาทสำคัญในการขจัดอนุมูลอิสระต่างๆ ทั้งในและ นอกเซลล์ ป้องกันการเสื่อมของเนื้อเยื่อและเซลล์ นอกจากนี้วิตามินซีช่วยในการเปลี่ยนวิตามินอีที่ถูกใช้ไปในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระให้กลับมาเป็นวิตามินอีที่ทําหน้าที่ได้ดังเดิม
- เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก วิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ทําให้ธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดีที่ลำไส้ นอกจากนี้วิตามินซีมีคุณสมบัติที่สามารถจับธาตุเหล็กไว้เป็นการช่วยเพิ่มการดูดซึม
- ช่วยการทํางานของเม็ดเลือดขาว และช่วยกระบวนการ กลืนทําลายเชื้อโรค (phagocytic activity) ของเม็ดเลือดขาว neutrophit ในการขจัดเชื้อโรคในร่างกาย ยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีนที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ดังนั้น วิตามินซีช่วยลดการระคายเคืองที่เยื่อบุ ทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล หรือลดอาการบวมแดง ผื่นบริเวณผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ยังต้องการข้อมูล จากงานวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมก่อนนําไปประยุกต์ใช้ต่อไป
- ป้องกันการเกิดสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน สารก่อมะเร็งไนโตรซามีนเกิดขึ้นจากการบริโภค อาหารที่มีสารไนเตรท หรือที่เรียกว่าดินประสิว มักพบในอาหารประเภทเนื้อเค็ม ไส้กรอก แฮม กุนเชียง แหนม เมื่อกินอาหารในกลุ่มนี้เข้าไป อาจทำให้ร่างกายมีสารก่อมะเร็งไนโตรซามีนได้ ซึ่งเกิดได้สูงในกระเพาะอาหารที่มีความเป็นกรด วิตามินซีมีส่วนช่วยยับยั้งไม่ให้มีการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีนได้
- ลดซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน วิตามินซีช่วยสังเคราะห์ catecholamines วิตามินซีมีบทบาทที่จำเป็นในการสังเคราะห์ catecholamines ซึ่งเป็นสารส่งผ่านประสาท ภาวะขาดวิตามินซีมีผลทําให้เกิดภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM